สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เร่งส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตร ปั้นสตาร์ทอัพใน 6 สาขา “การเกษตรดิจิทัล-เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติ- เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร – การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่- การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง- บริการทางธุรกิจเกษตร” รวม 66 ราย หวังช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าปี 2021 ทำแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ การทำฟาร์มในเขตเมือง และการสร้างบริการแบบเบ็ดเสร็จ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งความท้าทายด้านการเกษตร แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ด้วยวิถีชีวิตใหม่ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การเดินทางท่องเที่ยวลดลง การเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
ดังนั้น การส่งต่อสินค้าเกษตรไปถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรงนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ซึ่ง NIA ได้มีการติดตามและสรรหาแนวทางในการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลักดันนวัตกรรมและสตาร์ทอัพที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมสามารถนำเอานวัตกรรม และเทคโนโลยีเหล่านั้นไปปรับใช้ เพื่อลดผลกระทบที่เกษตรกรไม่สามารถแก้ไขหรือควบคุมเองได้
ดร.กริชผกา กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมาได้มุ่งบ่มเพาะให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) เช่น เรือรดน้ำไร้คนขับ เพื่อช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่การทำสวน การนำร่องนำสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาพัฒนาทางผลิตภัณฑ์และรูปแบบทางตลาดบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างสตาร์ทอัพกับเกษตรกร 50 กลุ่ม
ทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มสามารถขายสินค้าและผลิตผลได้มากขึ้น และบางรายมียอดสั่งซื้อที่มากเกินความคาดหมายจนเกิดเทรนด์การค้าขายสินค้าชุมชนบนช่องทางอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ยังได้มีการสร้างเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และการบริหารจัดการที่จำเป็นโดยมุ่งหวังให้เกษตรกรรมไทยก้าวไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม NIA มีแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมในการเติบโตของสตาร์ทอัพเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพทางการแข่งขัน ซึ่ง NIA มองว่าโอกาสในประเทศไทยนั้นค่อนข้างมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสตาร์ทอัพเกษตรของไทยมีความสามารถ และได้เปรียบในด้านพื้นที่ทางการเกษตรที่สามารถเข้าไปทดลองได้ค่อนข้างมาก มีความหลากหลายของพืชพันธุ์ รวมทั้งยังมีตลาดผู้ใช้ในประเทศมากถึง 25 ล้านคน
ทั้งนี้ NIA ไม่ได้คาดหวังว่าสตาร์ทอัพเกษตรจะต้องไปถึงระดับยูนิคอร์น แต่จะต้องมีแนวทางใหม่ นวัตกรรรมใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรของประเทศให้อยู่ดีกินดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในปี 2021 NIA จึงได้วางแนวทางในการส่งเสริมสตาร์ทอัพรวบรวมสตาร์ทอัพด้านเกษตร ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การเกษตรดิจิทัล 2.เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติ 3.เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร 4.การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ 5.การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง และ6.บริการทางธุรกิจเกษตร จำนวนทั้งหมด 66 ราย เบื้องต้นคาดว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้ จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์และงานบริการ รวมทั้งลดความเสียหายในด้านผลผลิต และลดต้นทุนบางประการที่เกษตรกรต้องแบกรับในปัจจุบัน”
นอกเหนือจากการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการเกษตรให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายแล้ว NIA ยังได้วิเคราะห์แนวโน้มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่มีโอกาสเติบโต เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมดังกล่าว พร้อมเป็นแนวทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทยให้ก้าวทันความต้องการของโลก และก้าวสู่ผู้นำของภูมิภาค ได้แก่
1.การซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะมาแรงในยุคที่ยังมีการเกิดโรคระบาด และวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่สตาร์ทอัพ หรือผู้พัฒนาธุรกิจจำเป็นต้องหากลยุทธ์และเทคโนโลยีมาสร้างความแตกต่าง เพราะสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงทั้งจากการผลิต การขนส่ง ลักษณะเฉพาะของสินค้าที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าเกษตรอาจจะไม่ใช่แค่การขายมาซื้อไปเท่านั้น แต่สตาร์ทอัพจะต้องลงลึกถึงการเก็บรักษาสินค้าขณะจัดส่ง สร้างนวัตกรรมที่คงความสดใหม่ของอาหาร รวมทั้งนวัตกรรมสำหรับแปรรูปเพื่อให้สินค้าเก็บได้นาน
2.ฟาร์มในเขตเมือง (Urban Farming) ด้วยโรงเรือนระบบปิดที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้อย่างเป็นระบบ เหมาะกับโครงการอสังหาริมทรัพย์หรือที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัด รวมทั้งการใช้พื้นที่เช่น ดาดฟ้า ลานจอดรถ หรือพื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งในเขตเมืองให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ สามารถสร้างมูลค่านวัตกรรมนี้ได้ทั้งการจำหน่ายผลิตผล เช่น ผักสด ผลไม้ไร้สารพิษ หรือแม้กระทั่งรูปแบบการให้บริการหรือนวัตกรรมแบบสำเร็จรูปกับบริษัทหรือเจ้าของที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าจะได้เห็น ฟาร์มในเขตเมือง เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้
3.การเชื่อมโยงและต่อยอดนวัตกรรมจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร ด้วยการผนวกรวมความร่วมมือในลักษณะการบริการแบบเบ็ดเสร็จ (Total Solutions) การนำนวัตกรรมการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และการเพิ่มผลิตผลิต ผนวกรวมกับการเก็บรักษาและแปรรูปผลผลิต รวมกับการสร้างช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้สินค้ามีคุณภาพ เหมือนที่ออกจากแปลงเกษตร ถึงมือผู้บริโภคในระดับต่างๆ นั่นคือการสร้างความร่วมมือบนความเชี่ยวชาญของแต่ละสตาร์ทอัพมาช่วยเชื่อมโยงและต่อยอดกัน ที่จะทำให้เป็นทางออกที่สำคัญที่จะเห็นการยกระดับเกษตรของไทยกันทั้งระบบ เกิดการพลิกโฉมการเกษตรไทยได้อย่างยั่งยืน