พิษโควิดสวนกล้วยไม้เจ๊งระนาว “ธรรมนัส” เก็ตไอเดียวางแผนจัด “กล้วยไม้สัญจร”ทั่วไทย 12 ครั้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

“ธรรมนัส” ลงพื้นที่ร่วมหาแนวทางช่วยเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ไทยในจังหวัดนครปฐม  ที่ได้รับผลผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยอมรับบางรายกระทบหนักถึงขนาดปล่อยทิ้ง เลิกกิจการ เพราะไม่มีตลาดระบายผลผลิต ขณะที่ค่าใช้จ่ายตกเดือนละ 10,000  บาทต่อไร่ เบื้องต้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการวางแผนจัดงานกล้วยไม้สัญจรทั่วประเทศ 12 ครั้ง

      ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมรับฟังปัญหาสหกรณ์ประกอบการกล้วยไม้ไทย ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงอย่างมาก แต่ยังคงมีรายจ่ายอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น แรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องดูแลรักษาต้นกล้วยไม้ให้แข็งแรง มีคุณภาพอยู่เสมอ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนเฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/เดือน แต่เนื่องจากรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องปล่อยสวนให้ร้างหรือรื้อถอนสวน ยกเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก

                                            ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

       ในการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด รวมทั้งหน่วยงานเอกชนนั้น จะขยายตลาดภายในและต่างประเทศ  มีมาตรการด้านการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ยของกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ  ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณืการเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมวางแผนจัดงานกล้วยไม้เป็นงานประจำปีของจังหวัดนครปฐมและวางแผนจัดงานกล้วยไม้สัญจร ร่วมกับสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด จำนวน 12 ครั้ง กระจายทั่งทุกภาคของประเทศไทย พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ มีการสร้าง แพรทฟอร์มตลาดสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร  ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับ ลาซาด้า ในการออกแบบรูปแบบกล่องบรรจุให้เหมาะสมกับกล้วยไม้ และลดราคาค่าขนส่งให้กับเกษตรกรและผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ากล้วยไม้

    ทั้งนี้ จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้มากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลหวาย ในปี2563 มีพื้นที่ทั้งหมด 11,572.96 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ 652 ครัวเรือน มีผลผลิตรวม 15,414 ตัน คิดเป็นมูลค่า712 ล้านบาท/ปี  โดยอำเภอที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด คือ อำเภอบางเลน จำนวน 4,447.66  ไร่ รองลงมา คือ อำเภอสามพราน จำนวน 2,702.1 ไร่ และอำเภอนครชัยศรี จำนวน 2,093.74 ไร่  โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือประเทศจีนมากที่สุดถึง 90% ของผลผลิตทั้งหมด ประมาณ 1,156.5 ตัน/เดือน คิดเป็นมูลค่า 54,350,534.7 บาท/ เดือน