เตือนเจ้าของสวนมะยงชิด-มะปรางให้ระวังโรคแอนแทรคโนสในช่วงนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

      กรมวิชาการเกษตร แจ้งว่า ช่วงนี้จะมีหมอกในตอนเช้า เวลากลางวันมีอากาศแห้ง แดดแรง และลมแรง ส่วนในเวลากลางคืนอากาศเย็นและมีอุณหภูมิต่ำลง ขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะปรางและมะยงชิดให้ระวังโรคแอนแทรคโนส ซึ่งจะสามารถพบโรคแอนแทรคโนสได้ในระยะติดผลจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต

       อาการบนใบ จะพบแผลรูปร่างไม่แน่นอน ขอบแผลชัดเจนสีน้ำตาลเข้ม กลางแผลสีน้ำตาลอ่อนบางใสกว่าเนื้อใบรอบๆ กรณีมีความชื้นสูง แผลที่เกิดบนใบอ่อนจะเพิ่มจำนวนขยายใหญ่อย่างรวดเร็วจนติดกันทั้งใบ ทำให้ใบบิดเบี้ยวหรือแห้งไหม้ หากรุนแรงจนถึงระยะออกดอก เชื้อราสาเหตุโรคจะเข้าทำลายช่อดอก โดยเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลดำกระจายบนก้านดอก ทำให้ดอกเหี่ยว หลุดร่วง และไม่ติดผล

       ส่วนอาการบนผลอ่อน จะพบผลอ่อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำและร่วงหล่น เชื้อราสาเหตุโรคนี้สามารถแฝงอยู่ที่ผลอ่อนและไม่แสดงอาการของโรค แต่จะแสดงอาการเมื่อผลแก่ โดยพบจุดแผลสีดำเล็กๆ ต่อมาแผลจะขยายลุกลาม บริเวณแผลอาจพบรอยแตก ทำให้ผลเน่า

       ดังนั้นหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นแล้วนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรค ลดความชื้นในทรงพุ่ม และไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคในฤดูกาลผลิตต่อไป จากนั้น ให้ควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสม ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป

       ส่วนแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคเป็นประจำ ในช่วงที่ต้นแตกใบอ่อน เริ่มแทงช่อดอก และหลังติดผลอ่อน เกษตรกรควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 – 10 วัน หลีกเลี่ยงการพ่นสารในช่วงที่ดอกบาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแมลงช่วยผสมเกสร และควรหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 7 วัน