หวั่นปี 65 ไร่พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง พบโรคไวรัสใบด่างระบาดหนักยับเยินแล้วกว่า 4 แสนไร่ใน 28 จังหวัด

  •  
  •  
  •  
  •  

ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรฯ ชี้สารพัดปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั้งราคาตกต่ำ ระบบการเยียวยาของภาครับ โรคระบาด  ล่าสุดพบโรคไวรัสใบด่างระบาดหนักในพื้นที่ 28 จังหวัด ยับเยินแล้วกว่า 4 แสนไร่ หวั่นปี 65 จะมีพื้นที่ปลูกอีกหรือไม่  เตรียมเสนอ อบจ.ร่วมสร้างความยั่งยืน 

        นายเติมศักดิ์  บุญชื่น งเกษตรประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังยังคงมีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่แพร่ระบาด 28 จังหวัด การระบาดเพิ่มขึ้นคิดเป็นนัยยะเกินกว่า 200% พื้นที่เกินกว่า 4 แสนไร่  และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะสามารถควบคุมหรือป้องกันโรคได้อยู่หรือไม่ ส่งผลให้ปัญหาต่างๆตามมา ทั้งจากพื้นที่การแพร่ระบาด การเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ สายพันธุ์ต้านทาน ราคาตกต่ำ  การขนส่ง  การส่งออกต่างประเทศ โครงการช่วยเหลือเยียวยา ฯลฯ 

       ส่วนปัญหาหลักประเด็นสำคัญหนึ่งคือกฎเกณฑ์ กติกาของระบบราชการที่เป็นเงื่อนไข อุปสรรค ซึ่งหากโรคไวรัสใบด่างยังคงระบาดเช่นนี้ เกรงว่าในปีการผลิต 2565 จะยังมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้อยู่หรือไม่ ปัญหาด้านราคามันสำปะหลังสภาเกษตรกรแห่งชาติ พยายามผลักดันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่นล่าสุดได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการราคาไปยัง 4 สมาคม เพื่อการกำหนดราคามันสำปะหลังภายในประเทศ ประกาศกำหนดราคาแนะนำ และแจ้งประกาศราคาแนะนำทุก 15 วัน รวมทั้งกำหนดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันการขายตัดราคา  

       ทั้งนี้ หากมองถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ พยายามผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่อย่างน้อย 1 อำเภอ ได้มีการรวมตัวกันอย่างเป็นรูปแบบมีพลังยิ่งกว่าแปลงใหญ่ วางแผนการผลิต คุณภาพ ระยะเวลา การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เกษตรกรจะสามารถสร้างและควบคุมกลไก อำนาจการต่อรองเรื่องราคาได้ในวัตถุดิบการเกษตรทุกสาขาเพราะอยู่ในมือเกษตรกร 

        ในส่วนของการแปรรูปก็สำคัญ มีผลงานวิจัยหลากหลายที่เกษตรกรสามารถแปรรูปได้ในเบื้องต้น เช่น การแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ สุราชุมชน แป้งฟลาวร์สำหรับคนแพ้กลูเตน ซึ่งต้องร่วมกันส่งเสริม ยกระดับการตลาดรวมทั้งงานวิจัยการแปรรูปและเรื่องมาตรฐานสถานที่ผลิตด้วย  

           “ถ้าจัดทำหนึ่งตำบล หนึ่งอำเภอรวบรวมผลผลิตได้ เกษตรกรจะมีอำนาจต่อรองขึ้นมาทันทีไม่ว่าพืชชนิดไหน ด้วยวัตถุดิบอยู่ในมือพี่น้องเกษตรกรแต่ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนะ สภาเกษตรกรจะขายแนวคิด โดยนำร่องที่จังหวัดนครราชสีมาก่อน เชื่อมโยงแผนภาคการเกษตรไปสู่แผนการบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็น 1 ในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ยกระดับรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งต้องดูทิศทางและเตรียมเสนอผ่านอบจ.  เช่น แผนในเรื่องของการบริหารจัดการท้องถิ่น เพื่อให้เป็นนโยบายของ อบจ. ต่อไป ” นายเติมศักดิ์   กล่าว