ระวัง!! 2 เพลี้ยบุกสวนมะม่วงหิมพานต์

  •  
  •  
  •  
  •  

     ช่วงนี้กลางวันจะมีแดดจัด ลมแรง และอากาศแห้ง ส่วนกลางคืนอากาศเย็นและมีอุณหภูมิลดต่ำลง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงหิมพานต์เฝ้าระวังต้นมะม่วงหิมพานต์ในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ระยะแทงช่อดอกและพัฒนาผล ให้สังเกตการเข้าทำลายของ 2 เพลี้ย คือ เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง ในส่วนของเพลี้ยไฟ จะพบการเข้าทำลายต้นมะม่วงหิมพานต์ในช่วงแตกยอดอ่อน แทงช่อดอก และผลอ่อน โดยเพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยง จนส่งผลทำให้ยอดอ่อนหงิกงอหรือแห้งตาย กรณีที่ระบาดรุนแรง จะทำให้ช่อดอกไหม้เป็นสีดำ และไม่ติดผล ถ้าติดผลแล้วจะทำให้ผลร่วงหล่นได้

     แนวทางในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟ ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจตรวจดูยอดอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของต้นมะม่วงหิมพานต์ภายในสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดในช่วงที่ต้นมะม่วงหิมพานต์เริ่มแทงช่อดอกหรือก่อนดอกบาน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา–ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

      สำหรับการระบาดของเพลี้ยแป้งในสวนมะม่วงหิมพานต์ เริ่มแรกจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลอ่อน ส่งผลทำให้เมล็ดและผลปลอมไม่เจริญ แคระแกร็น เมล็ดลีบ หรืออาจทำให้ผลอ่อนร่วงหล่นได้ กรณีที่มีเพลี้ยแป้งในปริมาณมาก มักพบเพลี้ยแป้งเกาะเป็นกระจุกที่ลำต้น และอยู่ร่วมกันกับมด โดยมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ของต้นมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งมดจะอาศัยน้ำหวาน จากเพลี้ยแป้งที่ถ่ายออกมา

     เกษตรกรควรหมั่นสำรวจผลอ่อนของต้นมะม่วงหิมพานต์อย่างสม่ำเสมอ หากพบกลุ่มเพลี้ยแป้งเป็นปุยสีขาวเกิดขึ้น ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงพิริมิฟอส–เมทิล 50% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสาร 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน เพราะตัวอ่อนเพลี้ยแป้งจะหลบอยู่ใต้ท้องตัวเต็มวัยเพศเมียอาจจะยังไม่ตายจากการพ่นครั้งแรก หลีกเลี่ยง การพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร