ถก 4 ประเด็น “อนาคตข้าว-อนาคตไทย” เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อข้าวและชาวนา- ข้าวเพื่อสุขภาพ-ข้าวในมิติของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ข้าวเพื่อการท่องเที่ยว บนเวทีประชุมข้าวไทย ประจำปี 2563 เพื่อหาแนวทางความยั่งยืนให้แก่ข้าวและชาวนาไทยแบบวิถี NEW NORMAL
วันที่18 ธันวาคม 2563 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีข้าวไทย ประจำปี 2563 หัวข้อเรื่อง “อนาคตข้าว-อนาคตไทย” ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล ชั้น 1 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 8 ภาคีองค์กรพันธมิตร ได้แก่ กรมการข้าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกวส.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สนช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประกอบด้วย คณาจารย์ นักวิจัย สถาบันการศึกษา กลุ่มชาวนา องค์กรภาคธุรกิจ หน่วยงานส่วนต่างๆของภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม จำนวนกว่า 300 คน
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่คุณค่าของข้าวไทยทุกขั้นตอน ทั้งในด้านโครงสร้างการผลิต การแปรรูป และการค้าข้าว นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก อาทิ ภัยแล้ง อุทกภัย ภัยคุกคามจากโรคไวรัสโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
อีกทั้งสังคมโลกยังเรียกร้องให้มีกระบวนการผลิตและการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ภาคีองค์กรพันธมิตร จึงได้จัดการประชุมข้าวไทย ประจำปี 2563 ในหัวข้อเรื่อง “อนาคตข้าว-อนาคตไทย” เพื่อร่วมกันนำสิ่งดี ๆของข้าวและชาวนาไทยมาวางแผนอนาคต รวมถึงหาแนวทางสร้างความยั่งยืนในแบบวิถี NEW NORMAL
ภายในงานมีการเสวนากลุ่ม 4 เรื่อง ได้แก่ 1. “นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อข้าวและชาวนา” ให้ความรู้และตระหนักถึงการก้าวเข้ามาของดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และแรงงาน ตลอดจนสร้างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวและชาวนาไทย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลิตข้าวและชาวนาไทย 2. “ข้าวเพื่อสุขภาพ” ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับตัวผู้บริโภคเราควรกินข้าวกันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้าวเป็นยาได้ไหม ? กินข้าวอย่างไรไม่ให้อ้วน และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวที่เราคาดไม่ถึงจากคงามต้องการของผู้บริโภค
3. “ข้าวในมิติของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวนาที่นำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างครบวงจร และการใช้ฟางข้าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการเผาที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น pm.2.5 ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ 4. ข้าวเพื่อการท่องเที่ยว นอกจากท้องนาจะเป็นสถานที่ปลูกข้าวแล้ว ยังให้ธรรมชาติและวิวที่สวยงามแก่ท้องถิ่น สิ่งที่น่าส่งเสริมคือการเปิดกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับการผลิตข้าว โดยอนุชนชาวนารุ่นใหม่และครอบครัวชาวนา เป็นผู้ให้ความรู้ในลักษณะของ Rice Tourism
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเสวนาทั้ง 4 เรื่อง จาก 10 องค์กรที่ร่วมจัด อาทิ แอพพลิเคชั่น Rice เวลา / นวัตกรรมข้าวฮางอินทรีย์ มาตรฐานการส่งออกและการสร้างแบรนด์ /พุดดิ้งข้าวผสมจาวมะพร้าว / นวัตกรรมเครื่องสำอางจากข้าว / การจำหน่ายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าข้าวที่ได้รับรางวัลจาการประกวดนวัตกรรมข้าวไทย / ข้าวพันธุ์ใหม่และการจำหน่ายข้าว / ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากข้าว
ข่าวโดย …นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์