“มนัญญา” ชูงานวิจัยด้านพืช เน้นกินได้ เป็นยา ทำเครื่องสำอาง หวังเสริมรายเพิ่มให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  
“มนัญญา” กำชับกรมวิชาการเกษตร ให้เดินหน้างานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช เน้นนำผลงานวิจัยที่สามารถนำมาสู่งานวิจัยที่กินได้ ทั้งการแปรรูปเป็นอาหาร รวมถึงเครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์  เพื่อทดแทนการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศและเป็นความมั่นคงด้านอาหารของชาติ  ตลอดจนนำมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร
           นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกับกรมวิชาการเกษตรให้เน้นงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อจะได้สามารถทดแทนการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศและเป็นความมั่นคงด้านอาหารของชาติ  รวมถึงการนำงานวิจัยมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรและประชาชน ทั้งการแปรรูปเป็นอาหาร เครื่องสำอาง  และเวชภัณฑ์ ซึ่งนำมาสู่งานวิจัยที่กินได้   และอนาคตอาจสามารถผลิตเป็นสินค้าที่สร้างรายได้สูงให้กับประเทศ   ซึ่งจะส่งเสริมให้มีงบประมาณสำหรับมาสนับสนุนงานด้านนี้เพิ่มกว่าปีที่ผ่านมา
           นางสาวมนัญญา กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แต่เหมือนกับการปิดทองหลังพระไม่มีใครทราบ เช่นหญ้าหวานที่กรมวิจัยพัฒนาจนเอกชนนำมาต่อยอดจำหน่าย  ดังนั้นในปีต่อไปจะช่วยส่งเสริมงานวิจัยให้มากขึ้นเพราะการที่จะได้ผลผลิตที่ดีก็ต้องมาจากพันธุ์ที่ดี  รวมถึงงานวิจัยพืชไร่ พืชสวน และอื่นๆที่มีออกมา ซึ่งตนเองพร้อมจะเป็นคนนำผลิตภัณฑ์หรืองานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรออกมาเสนอต่อภาคประชาสังคมให้เพิ่มมากขึ้น 
          รมช.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า ในการลงพื้นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ที่ขุนวางและแม่จอนหลวง กรมวิชาการเกษตร พบว่ามีพืชหลายชนิดที่จะส่งเสริมต่อยอด เช่น การพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อลดการนำเข้าซึ่งแต่ละปีนำเข้าประมาณ 5,000-6,000  ตัน หรือประมาณ  65%   ผลิตในประเทศได้  35%  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีศักยภาพผลิตได้ประมาณ  5-7% 
 
       นอกจากนั้นยังมีมะคาเดเมียที่สามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นน้ำมันบำรุงผิว  ในขณะที่กลุ่มเวชภัณฑ์พบว่ามีการวิจัยพืชสมุนไพรหลายชนิดมาก บางชนิดสามารถต่อยอดการวิจัยเพื่อป้อนตลาดสมุนไพรของประเทศได้เช่น มะแขว่น ที่นิยมใช้ทำอาหารผสมในเครื่องปรุงหม่าล่า แต่ของไทยจะมีกลิ่นหอมเพิ่มเติมจากรสเผ็ด  ยาหม่องน้ำมันมะแขว่น  ซึ่งสามารถที่จะผลิตเป็นเครื่องยาและเครื่องหอมได้อีกด้วย โดยหากสามารถวิจัยได้สำเร็จไทยจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจากพืชกลุ่มสมุนไพรในอนาคต”  นางสาวมนัญญากล่าว
           ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวเสริมว่า  กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีข้อจำกัดจากเรื่องกำลังคนและงบประมาณ  แต่ทั้งนี้หน้าที่สำคัญคือการพัฒนางานวิจัยเพื่อรองรับความมั่นคงด้านอาหาร  และด้านเมล็ดพันธุ์  ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละปีกรมวิชาการเกษตรจะมีการเปิดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์  ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ ให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือประชาชนที่สนใจในราคาที่เหมาะสม  โดยจะมีการแจ้งรายละเอียดในหน้าเว็บไซด์ของกรมวิชาการเกษตรว่าสามารถหาซื้อได้ในจังหวัดที่อยู่ใกล้บ้าน  เช่น พันธุ์ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว ถั่วเหลือง  พันธุ์ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น