ธ.ก.ส. แจงปัญหาชาวนาบุรีรัมย์ที่อ้างใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิซื้อจากพนักงาน ธ.ก.ส. แต่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ถูกสหกรณ์ปฏิเสธไม่รับซื้อ เนื่องจากไม่ใช่ข้าวหอมมะลิแท้ เกิดจากเกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกเองไปใช้รุ่นต่อไป แต่มีข้อผิดพลาดในการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ล่าสุดได้ประสานเครือข่ายไปเติมความรู้การเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกวิธีจนเป็นที่พึงพอใจแล้ว
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีชาวนา ตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่าได้จัดซื้อพันธุ์ข้าวหอมมะลิจากพนักงาน ธ.ก.ส. แต่เมื่อชาวนานำไปปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต นำไปขายที่สหกรณ์กลับถูกปฏิเสธไม่รับซื้อ เนื่องจากไม่ใช่ข้าวหอมมะลิแท้ แต่เป็นข้าวปลอมปน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนนั้น
จากการสอบถามข้อมูลในพื้นที่พบว่า ชาวนารายดังกล่าวได้ซื้อพันธุ์ข้าวจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จังหวัดบุรีรัมย์ (สกต.บุรีรัมย์)ในปี 2561 เมื่อนำมาปลูกแล้วได้ผลผลิตที่ดี สามารถ ขายได้ในราคาที่ตลาดรับซื้อปกติ จึงได้มีการเก็บข้าวบางส่วนไว้ทำเป็นพันธุ์ในปีถัดมา แต่เมื่อนำพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้มาปลูกและขายกลับพบว่า มีการปลอมปนซึ่งอาจเกิดจากข้อผิดพลาดในการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร ธ.ก.ส. ในพื้นที่ รวมถึงผู้แทน สกต. เข้าพบชาวนาผู้ได้รับความเสียหายดังกล่าว พร้อมได้ชี้แนะแนวทางแก้ไขและให้ความช่วยเหลือจนเป็นที่พึงพอใจแล้ว
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนความรู้คู่เงินทุนกับเกษตรกร จากปัญหาดังกล่าว ธ.ก.ส. จะประสานส่วนงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสนับสนุนและเติมความรู้ด้านการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องและมีคุณภาพที่ดีให้กับเกษตรกรที่สนใจ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนสถาบันเกษตรกร เช่น สกต. ให้ทำหน้าที่ในการดูแลสมาชิกทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่ดีแก่เกษตรกรต่อไป