ไทยยังครองผู้ผลิต-ส่งออกยาง/ผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่ของโลก คาดปีนี้ผลิตได้ 4.7 ล้านตัน ส่งออก 3.9 ล้านตัน

  •  
  •  
  •  
  •  
ไทย  เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการยางพาราโลก ครั้งที่ 16 ในรูปแบบ Hybrid ทั้งห้องประชุมจริง และการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ virtual conference จาก 25 ประเทศทั่วโลก “นราพัฒน์ แก้วทอง” เผยไทยยังคงเป็นผู้ผลิตและส่งออกยาง/ผลิตภัณฑ์ยางคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุดของโลก ชี้ในสถานการณ์โควิด -19 คาดจะสามารถผลิตยางธรรมชาติน่าว่าจะอยู่ที่ 4.7 ล้านตันในปีนี้ การส่งออกอยู่ที่ 3.8 – 3.9 ล้านตัน 
        นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมวิชาการยางพาราโลก (Global Rubber Conference : GRC) ครั้งที่ 16 ในรูปแบบ Hybrid ทั้งห้องประชุมจริง และการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ virtual conference จาก 25 ประเทศทั่วโลก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 13 พ.ย. 63 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูนทาวน์ พระราม 9 กรุงเทพฯ ว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยยังคงเป็นผู้ผลิตและส่งออกยาง/ผลิตภัณฑ์ยางคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ ยางรถยนต์ ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตจะล้นตลาด เนื่องมาจากราคายางพาราที่ผันผวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยยังคงผลิตยางได้ 4.9 ล้านตัน โดยมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติมากถึง 4.18 ล้านตัน การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูปมีมูลค่า 11.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดการณ์ว่าภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน การผลิตยางธรรมชาติน่าว่าจะอยู่ที่ 4.7 ล้านตันในปีนี้ โดยมีการส่งออกอยู่ที่ 3.8 – 3.9 ล้านตัน 
        นายนราพัฒน์ กล่าวอีกว่า ความเป็นผู้นำของไทยในภาคยางพารา เกิดจากการสนับสนุนและให้ความสำคัญจากภาครัฐ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ปัจจัยด้านทรัพยากรที่เอื้อต่อการผลิตยางธรรมชาติ แรงงานที่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน อาทิ การขนส่ง การสนับสนุนการลงทุนเพื่อดึงดูดหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในผลิตภัณฑ์ยางของไทยมากขึ้น การจัดตั้ง Rubber City เพื่อเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยาง ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
                                                        นราพัฒน์ แก้วทอง
    “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ไม่เพียงแต่ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญคือการผลักดันราคาและรักษาเสถียรภาพของรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์ยางด้วย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับนโยบายห่วงโซ่มูลค่าที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บท Thailand 4.0 โดยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ทั้งในภาคการเพาะปลูกและการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ยางที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ยางรถยนต์และยางล้อเครื่องบิน เป็นต้น” นายนราพัฒน์ กล่าว
 
                                                                          ณกรณ์ ตรรกวิรพัท 
        ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมวิชาการยางพาราโลก (Global Rubber Conference : GRC) ในครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องด้านยางพาราของโลกทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังสถานการณ์ยางพาราของโลกในปัจจุบัน ตลอดจนทิศทางแนวโน้ม และความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญในอนาคต โดยจัดการประชุมในรูปแบบไฮบริดโมเดล เปิดโอกาสให้ผู้แทนและวิทยากรกว่า 400 คน จาก 25 ประเทศ และมีผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ ในประเทศไทยประมาณ 100 คน เข้าร่วมประชุมแบบเสมือนจริง ซึ่งจะไม่ทำให้เจตจำนงของความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมในด้านนโยบาย การวิจัย และธุรกิจของยางพาราลดลง จึงเชื่อมั่นว่าผลของการประชุมครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางให้สามารถแข่งขัน ฟื้นกลับมาและมีความยั่งยืนได้ 
          ทั้งนี้ ภายในงานมีพิธีมอบรางวัล Wickham ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ผู้มีคุณูปการด้านอุตสาหกรรมและวิชาการยางพาราของโลก โดยมีผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ คุณบุญธรรม นิธิอุทัย เป็นผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับรางวัลคัดเลือกสายเทคโนโลยีทางการค้า จากผลงานการผลิตหุ่น CPR เพื่อสังคม และนำยางไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ คุณปรีดิ์เปรม ทัศนกุล เป็นนักวิชาการของการยางแห่งประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลคัดเลือกสายนวัตกรรมเทคโนโลยีจากผลงาน การพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้น GMP เพื่อให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ผลิต แปรรูปวัตถุดิบให้มีมูลค่าเพิ่มภายใต้มาตรฐานสากล