ปูพรมสำรวจรวจแปลงถั่วเขียวทั่วไทย หลังพบโรคใบด่างเหลืองระบาดที่ชัยนาท-นครสวรรค์ 6 พันไร่

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร  ลุยตรวจแปลงถั่วเขียวเมืองชาละวันและเพชรบูรณ์ หลังพบอาการใบด่างเหลืองแปลงถั่วเขียวที่จังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์ 6,000 ไร่   ดึงกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นแนวร่วม เพื่อปูพรมสำรวจพื้นที่ปลูกถั่วเขียวทั่วประเทศ  ชี้ความรุนแรงโรคขั้นสุดเก็บผลผลิตไม่ได้   เตือนเกษตรกรตื่นตัวหากพบอาการต้องสงสัยแจ้งสายด่วนทันที 

      นายพิเชษฐ์   วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท  ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์  และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงปลูกถั่วเขียวของเกษตรกรที่จังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์  เนื่องจากได้รับรายงานพบถั่วเขียวมีลักษณะใบด่างเหลือง จึงได้เก็บตัวอย่างใบ ยอด ของถั่วเขียวที่แสดงอาการใบด่างคล้ายไวรัสนำกลับมาตรวจวินิจฉัยภายในห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  ซึ่งผลการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นพบว่า เกิดจากเชื้อไวรัส 2 วงศ์ คือ  Geminiviridae : Begomovirus และ Potyviridae : Potyvirus โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจำแนกชนิดของเชื้อสาเหตุเพื่อให้ทราบชื่อและชนิด  เพื่อยืนยันลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อทั้งทางด้านชีววิทยา การถ่ายทอดโรค สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผลกระทบ และมาตรการในการป้องกันกำจัดโรค

      สถานการณ์การระบาดในขณะนี้พบถั่วเขียวแสดงอาการคล้ายไวรัสที่ อ.ตากฟ้า และ     อ.ไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 4,000 ไร่  อ.ลานสัก และ อ.บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี พบประมาณ 2,000 ไร่  โดยลักษณะอาการที่พบคือใบมีลักษณะด่างเหลือง  การออกดอกและติดฝักน้อย ซึ่งอาการนี้จะพบในทุกระยะการเจริญเติบโต กรณีติดฝัก ฝักจะมีลักษณะโค้งงอ  เล็กลีบ  ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจและเก็บตัวอย่างลักษณะอาการใบด่างของถั่วเขียวในแหล่งปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย  และกำหนดมาตรการในการป้องกันกำจัด เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตของโรคนี้ไม่ให้ลุกลามไปยังแหล่งปลูกถั่วเขียวอื่น ๆ ที่ยังไม่มีการระบาดของโรค  โดยขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เร่งสำรวจพื้นที่ปลูกถั่วเขียวเพิ่มเติมที่อ.บึงนาราง จังหวัดพิจิตร  ซึ่งมีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวทั้งหมดจำนวนประมาณ 26,000 ไร่  อ.วิเชียรบุรี และ อ.เมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่ปลูกทั้งหมดจำนวนประมาณ 155,000 ไร่   โดยขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการระบาดในเขตพื้นที่ปลูกถั่วเขียวภาคเหนือตอนบน

      อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไม่ให้แพร่กระจายจนส่งผลกระทบในวงกว้าง กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนปฏิบัติงานฉุกเฉินกรณีตรวจพบโรคใบด่างถั่วเขียวในประเทศไทยโดยจัดประชุมชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร และผู้ประกอบการที่รับซื้อ   รวมทั้งยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสำรวจโรคใบด่างถั่วเขียวพื้นที่ปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย โดยแบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 2 ระยะ คือ ระยะต้นกล้า (15-20 วันหลังปลูก) และระยะออกดอกติดฝัก (35-45 วันหลังปลูก)  พร้อมกับวางแผนการสำรวจตามคู่มือของกรมวิชาการเกษตรโดยให้กระจายทั่วพื้นที่ปลูกในแต่ละอำเภอ

     ในระยะนี้ขอแจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงปลูกถั่วเขียวอย่างสม่ำเสมอ  เนื่องจากหากเกิดการระบาดของโรคจะทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์หรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย  สำหรับแปลงที่พบโรคยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนการไถกลบได้  แต่ต้องไม่เก็บเมล็ดจากแปลงที่เป็นโรคไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์   ควรปลูกพืชหมุนเวียน  ใช้เมล็ดพันธุ์สะอาด   และควรทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกครั้ง  หากพบแปลงปลูกใดมีใบลักษณะด่างเหลือง ออกดอกและติดฝักน้อย  ฝักมีลักษณะโค้งงอเล็ก ลีบ  ขอให้แจ้งสายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างถั่วเขียว 06 1415 2517  หรือ กลุ่มวิจัยการกักกันพืช กรมวิชาการเกษตร  โทรศัพท์ 0-2561-2145 ต่อ101