ถกพืชจีเอ็ม 26 ประเทศปลูกแล้ว 1,198.1 ล้านไร่ ยันลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ-เป็นมิตร สวล.มากขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  

ผลจากการสัมมนาทางเว็บบีนาร์  ผ่าน Zoom เรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมระหว่างปี 2539 – 2561” สรุปล่าสุดมีประเทศที่ปลูกพืชจีเอ้ฒทั่วโลก 26 ประเทศเทศ ในพื้นที่ 1,198.1 ล้านไร่ เผย5 ประเทศแรกที่ปลูกมากที่สุดสหรัฐอเมริกา ตามด้วยตามด้วย บราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา และอินเดีย มีถั่วเหลือง ปลูกมากที่ข้าวโพด ฝ้าย และคาโนล่า ทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 27.1 พันล้าน KGS CO2 เท่ากับยกรถออกจากถนน 16.7 ล้านคันใน 1 ปี

      จากการการสัมมนาทางเว็บ หรือเว็บบีน่า ( Webinar) ผ่าน Zoom เรื่องเรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมระหว่างปี 2539 – 2561”  จัดโดย สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ณ ห้องบอลรูม C โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2563  ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก CropLife Asia และได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก ISAAA รวมทั้ง FoSTAT ที่ช่วยจัดการในเรื่องของ Webinar จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

     การสัมมนาในครั้งมีวิทยากรหลักจำนวน 4 ท่าน ประกอบด้วย Dr. Rhodora Romero-Aldemita ผู้อำนวยการองค์การ ISAAA SEAsia Center ได้พูดเรื่อง สถานภาพระดับโลกของการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมทางการค้าในปี 2561, Dr. Graham Brooks นักเศรษฐศาสตร์เกษตรจาก PG Economics ได้พูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมระหว่างปี 2539 – 2561, นายดนัย นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้พูดเรื่อง สถานะภาพของพืชดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทย และ นายสุกรรณ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้พูดเรื่อง ความคิดเห็นของเกษตรกรไทยที่มีต่อพืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยมี นายวิชา ธิติประเสริฐ อดีตผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ

ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

      ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าวว่า การสัมมนาทางเว็บในเรื่องนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากที่ผู้ฟังสัมมนาจะได้รับรู้และรับทราบ ข้อมูลทั้งในระดับโลก และในระดับประเทศ ที่จะนำไปสู่การพิจารณาอย่างมีเหตุผลและรอบคอบ และนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร และพัฒนาการเกษตรของประเทศ

     Dr. Rhodora Romero-Aldemita ให้ข้อมูลว่า ในปี 2561 มีพื้นที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมทั่วโลกทั้งหมด 1,198.1 ล้านไร่ จาก 26 ประเทศ กระจายอยู่แทบทุกภูมิภาคของโลก ประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา ตามด้วย บราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา และอินเดีย คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งหมด ร้อยละ 91.3 ของพื้นที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ในจำนวนนี้ ร้อยละ 45.6 เป็นพื้นที่ปลูกพืชที่ทนทานสารกำจัดวัชพืช ร้อยละ 12.4 เป็นพืชที่ต้านทานแมลงศัตรู และร้อยละ 42.0 เป็นพืชที่มีลักษณะร่วม (ทั้งทนทานสารกำจัดวัชพืช และ ต้านทานแมลงศัตรู) ถ้าแยกตามพืช ร้อยละ 50.0, 30.7, 14.0 และ 5.3 เป็นถั่วเหลือง ข้าวโพด ฝ้าย และคาโนล่าดัดแปลงพันธุกรรม ตามลำดับ

      โดยมีอัตราการยอมรับถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ที่ ร้อยละ 78 ตามด้วย ฝ้าย ร้อยละ 76 ข้าวโพด ร้อยละ 30 และ คาโนล่า ร้อยละ 29 ของพื้นที่ปลูกพืชแต่ละชนิดทั่วโลก พืชดัดแปลงพันธุกรรมมีส่วนช่วยในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร โดยเพิ่มผลผลิตพืชคิดเป็นมูลค่า 186.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2539 – 2560 ความยั่งยืน โดยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ คิดเป็นพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก 1,143.7 ล้านไร่ และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นโดยลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงร้อยละ 8.4 ในปี 2539 – 2561 และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 27.1 พันล้าน KGS CO2 เท่ากับยกรถออกจากถนน 16.7 ล้านคันใน 1 ปี รวมทั้ง บรรเทาความยากจนและหิวโหย โดยยกระดับการดำรงชีวิตของเกษตรกร 16 – 17 ล้านคนและครอบครัว รวมเป็น 65 ล้านคน

      ในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จากผลการศึกษาของ Dr. Graham Brooks นักเศรษฐศาสตร์เกษตรจาก PG Economics พบว่า ในช่วงปี 2539 – 2561 มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชลดลง 776 ล้าน กก. และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้ร้อยละ 19 รายได้ระดับฟาร์มทั่วโลกเพิ่มขึ้น 225 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และ ในประเทศที่กำลังพัฒนา ทุก ๆ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.42 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ผลผลิตที่ได้จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพิ่มขึ้น 824 ล้านตัน และจากผลผลิตที่ได้รับในปัจจุบัน ถ้าไม่ปลูกพืชดัดแปลงพัธุกรรมจะต้องใช้พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากเดิม 151.3 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2561 สามารถลดการปลดปล่อย CO2 ได้ 23 พันล้าน กก. เท่ากับยกรถออกจากถนนจำนวน 15.3 ล้านคัน ส่วนการพึ่งพาสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเสท มีส่วนทำให้เกิดปัญหาวัชพืชที่ต้านทาน แต่ ก็เป็นปัญหาที่เหมือนกับการปลูกพันธุ์ปกติ รวมทั้งยังมีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปลูกพืชปกติ และ ยังคงให้ผลกำไรได้มากกว่าพืชปกติ

        สำหรับประเทศไทย นายดนัย นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพที่มีต่อการเกษตรไทย และได้เคยทำงานวิจัยและพัฒนาในหลายพืช เช่น มะละกอที่ต้านทานต่อไวรัสจุดวงแหวน พริกที่ต้านทานต่อไวรัสเส้นใบด่าง และสับปะรดที่ทนทานต่อสารกำจัดวัชพืช เป็นต้น รวมทั้งได้เคยทดสอบภาคสนามมะละกอที่ต้านทานต่อไวรัสจุดวงแหวน เมื่อปี 2540 แต่พอถึงปี 2544 ก็ถูกระงับ สำหรับสถานะภาพของพืชดัดแปลงพันธุกรรมในปัจจุบัน ยังคงไม่ให้มีการเพาะปลูกในเชิงการค้า แต่สามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่องานวิจัยเท่านั้น

      ส่วนเมล็ดข้าวโพดและถั่วเลืองดัดแปลงพันธุกรรมอนุญาตให้นำเข้าได้เพื่อใช้เป็นอาหาร อาหารสัตว์ และการแปรรูป รวมทั้งกำหนดให้มีการติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีองค์ประกอบของข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมมากกว่าร้อยละ 5 มีหลายกฎระเบียบที่นำมาใช้ในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไข 2542 และ 2551 และ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี คู่มือความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนา ความปลอดภัยทางชีวภาพด้านอาหาร และการใช้จุลินทรียดัดแปลงพันธุกรรมในภาคอุตสาหกรรม และในอนาคต จะมี พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ…………….ที่จะกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม สำหรับเทคโนโลยีการแก้ไขจีโนม ได้มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยเพื่อวางนโยบายในการกำกับดูแลต่อไปในอนาคต

      ด้านนายสุกรรณ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย มองว่า  พืชดัดแปลงพันธุกรรมมีประโยชน์และสามารถแก้ปัญหาการผลิตพืช รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการผลิตสูง เป็นพืชที่มีสุขภาพที่ดีกว่าพันธุ์พืชปกติ รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่กลัวพืชดัดแปลงพันธุกรรม เนื่องจากเป็นพืชที่พัฒนาบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และเกษตรกรสามารถควบคุมและจัดการได้ รวมทั้งผลผลิตที่ได้จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมก็ยังเหมือนกับผลผลิตที่ได้จากพืชปกติ แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ เอ็นจีโอ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต่อต้านไม่ให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม ที่จริงแล้ว กลุ่มคนเหล่านั้นไม่ใช่เกษตรกรและไม่เคยทำการเพาะปลูก เอ็นจีโอทำให้ประเทศไทยไม่มีความก้าวหน้า

       ในปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่า ความรู้เกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมกำลังสูญหายไปจากระบบการศึกษา ในส่วนของภาครัฐและภาคธุระกิจ กลุ่มเอ็นจีโอไม่ได้ให้ความกังวลในเรื่องของการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม และแม้ว่าจะมีความสับสนในการพูดคุยทางวิทยาศาสตร์ แต่เกษตรกรมองเห็นว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมก็เป็นเพียงพืชปกติชนิดหนึ่ง

     ท้ายสุด มีการกล่าวถึง เจตจำนงทางการเมือง และการสร้างการรับรู้ของประชาชน สำหรับการผลักดันเพื่อการใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม