มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมนักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพด้านเห็ดราวิทยา ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า จนค้นพบเห็ดชนิดใหม่ของโลก จัดอยู่ในสกุล Pleurotus (สกุลที่ใช้เรียกเห็ดนางฟ้า) และได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ว่า “เห็ดพันธุ์อัปสร” มีความหมายถึง นางฟ้า ซึ่งจัดเป็นสกุลเห็ดนางฟ้า ชนิดที่ 15 ของประเทศไทย
การค้นพบเห็ดสายพันธุ์ใหม่ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของทีมความหลากหลายทางชีวภาพด้านเห็ดราวิทยา โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สายสมร ลำยอง หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิจัยอีกสองท่าน คือ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า สังกัดสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นผู้ร่วมวิจัยในโครงการ “การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของสวนป่าแม่เมาะ” ภายใต้ทุนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้ดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2559 – 2560 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากการร่วมกันศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา และศึกษาข้อมูลทาง DNA พื้นฐานเพื่อบอกถึงรหัสพันธุกรรมและวิวัฒนาการของเห็ดสกุลดังกล่าวจนมั่นใจว่าเป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก นอกจากพื้นที่สวนป่าแม่เมาะที่เป็นพื้นที่พบเห็ดพันธุ์อัปสรครั้งแรกแล้ว ทีมวิจัยยังพบการกระจายของเห็ดพันธุ์อัปสรเพิ่มขึ้นในพื้นที่วิจัยปกปักพันธุกรรมพืช อพ.สธ.- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาอีกด้วย
เห็ดพันธุ์อัปสร สามารถเพาะเลี้ยงเป็นเส้นใยบริสุทธิ์ได้ในห้องปฏิบัติการ และเป็นเห็ดที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงให้เกิดดอกเห็ด อีกทั้งมีรายงานว่ารับประทานได้ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เจริญได้รวดเร็วในก้อนเห็ดทั่วไปรวมถึงทนอากาศร้อนได้ดีกว่าเห็ดสกุลนางฟ้าชนิดอื่น ในอนาคตทีมวิจัยสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นเห็ดเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยง สร้างรายได้ ตลอดจนใช้เป็นสายพันธุ์ต้นแบบเพื่อปรับปรุงพันธุ์ในสภาพทนต่ออากาศร้อนได้ในอนาคต
ด้วยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่เพียงแต่ทำการค้นคว้า แต่ยังแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านเห็ดรา โรคพืช จุลินทรีย์เพื่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ให้กับนักศึกษา นักวิจัย เกษตรกร และผู้สนใจ ได้นำไปเป็นแนวทางต่อยอดพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการขยายพันธุ์ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดรา เพื่อสร้างความสมดุลของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และเป็นการรักษาพื้นที่ป่าดั้งเดิมไว้ให้คงสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุด อันจะนำไปสู่การมีทรัพยากรชีวภาพและแหล่งอาหารที่ยั่งยืนสำหรับอนุชนรุ่นหลังต่อไป