ชู “แหนแดงแห้ง”พืชมหัศจรรย์ แชมป์ปุ๋ยพืชสดให้ธาตุอาหารสูง แนะใช้แทนปุ๋ยเคมี

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร  ชู “แหนแดงแห้ง” พืชมหัศจรรย์ตอบโจทย์ด้านเกษตรครบวงจร แนะเกษตรกรใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในแปลงพืชผัก ระบให้ธาตุไนโตรเจนสูงกว่าพืชตระกูลถั่ว แถมเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีเหมาะเป็นอาหารสัตว์ช่วงแล้งขาดแคลนหญ้าด้วย เผยวิธีใช้นำไปผสมกับวัสดุปลูกช่วยต้นกล้าโตไว 

        นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า แหนแดงเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในการผลิตพืช   เนื่องจากใบของแหนแดงมีโพรงใบซึ่งมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดที่ตรึงไนโตรเจนอาศัยอยู่  เมื่อนำมาวิเคราะห์ธาตุอาหารพบว่ามีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 5 เปอร์เซ็นต์   ในขณะที่ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วมีธาตุอาหารไนโตรเจนประมาณ 2.5 -3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น   ดังนั้นแหนแดงจึงเปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพที่สามารถใช้ทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินด้วย

      ดังนั้นกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร  กรมวิชาการเกษตร  ได้ปรับปรุงพันธุ์แหนแดงสายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟินล่า  ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่าและสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว  ภายในระยะเวลา 30 วันให้ผลผลิตแหนแดงสดถึง 3 ตัน/ไร่  และสามารถตรึงไนโตรเจนได้ถึง 5-10 กิโลกรัม/ไร่  โดยหลังจากแหนแดงย่อยสลายจะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืชได้อย่างรวดเร็ว 

     อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแหนแดงได้ถูกนำมาใช้ประโยน์เป็นปุ๋ยพืชสดเฉพาะในข้าวเพียงพืชเดียวเท่านั้น   นักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดนำแหนแดงไปใช้ประโยชน์กับพืชอื่นให้หลากหลายชนิดมากขึ้น   ประกอบกับมีกระแสส่งเสริมเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์แหนแดงจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ตอบโจทย์การทำเกษตรอินทรีย์เพราะสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

      จากนั้นได้เริ่มทดสอบนำแหนแดงสดไปตากแดดให้แห้งเพื่อนำไปใช้กับพืชผัก  เพราะหากใช้แหนแดงสดต้องใช้ปริมาณมากพืชจึงจะได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ  โดยเมื่อนำแหนแดงแห้งไปตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารผลปรากฏว่ามีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากแหนแดงสดและยังใช้แหนแดงแห้งในปริมาณที่น้อยกว่าการใช้แหนแดงสด

       ผลจากการทดลองนำแหนแดงแห้งไปใช้กับพืชผักกินใบเช่น คะน้า  กวางตุ้ง  และผักสลัด โดยนำมาคลุกกับดินหรือรองก้นหลุม 1 กำมือ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี พบว่าให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ  จึงเหมาะสมอย่างมากสำหรับการผลิตพืชผักอินทรีย์  ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนการผลิต  เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตและขยายพันธุ์แหนแดงไว้ใช้ได้เองโดยมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก  โดย แหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัมสามารถใช้ในพื้นที่ปลูกผักประมาณ 2 ตารางเมตร  ซึ่งเมื่อเทียบกับปุ๋ยยูเรียแหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัม มีปริมาณธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยยูเรีย ประมาณ 100 กรัม (1 ขีด)

      นางสาวเสริมสุข กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนแม่พันธุ์แหนแดงและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงแหนแดงในบ่อแม่พันธุ์สำหรับให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์เอง  ซึ่งวิธีการเพาะเลี้ยงสามารถทำได้ง่ายโดยทำบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดง 2 – 3 บ่อ เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปขยายพันธุ์ต่อในบ่อขยายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น  โดยแหนแดงใช้ระยะเวลาขยายพันธุ์จนเต็มบ่อประมาณ 1 – 2 สัปดาห์  และจะเจริญเติบโตขยายตัวไปได้เรื่อยๆ  เกษตรกรจึงสามารถผลิตได้ตลอดไม่มีวันขาดแคลน   รวมทั้งยังสามารถเก็บแหนแดงแห้งใส่กระสอบไว้ได้นานถึง 3 ปีโดยที่ธาตุอาหารยังอยู่ครบ

     นอกจากนี้ แหนแดงแห้งยังสามารถผสมลงไปในวัสดุปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกกล้าได้เลย โดยกล้าจะดูดซึมไนโตรเจนเข้าไปในรากพืชเมื่อนำกล้าลงแปลงปลูกพบว่าต้นกล้าที่ใช้แหนแดงผสมกับวัสดุปลูกสามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าต้นกล้าที่ไม่ได้ใส่แหนแดง   รวมทั้งยังสามารถนำแหนแดงไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ ห่าน ปลา วัว และสุกรได้ด้วยเพราะแหนแดงสดมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์  จึงเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งโปรตีนให้กับสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร โดยเพาะในหน้าแล้งขาดแคลนหญ้า จะเห็นได้ว่าแหนแดงเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร

 

     “ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้ยินแต่การนำแหนแดงสดไปใช้ประโยชน์ในนาข้าว   แต่ในวันนี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดและส่งเสริมการนำแหนแดงแห้งไปใช้ประโยชน์ให้กับพื้นที่ปลูกพืชผักโดยเฉพาะพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์  และในพื้นที่แห้งแล้งโดยแหนแดงจะทำหน้าที่ดูดซับน้ำเอาไว้ให้พืช  เนื่องจากแหนแดงแห้งสามารถซับน้ำได้ 300 เท่าของน้ำหนักตัว ที่สำคัญเกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงแหนแดงได้เองด้วยวิธีการง่ายๆ ใช้ต้นทุนน้อยมากในการสร้างบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์และบ่อขยายพันธุ์   เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร  โทรศัพท์ 0-2 579-7523”  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว