ประเทศไทยขาดแคลนมะพร้าวต้องแก้ด้วยเทคโนโลยีการจัดการสวนมะพร้าว(ตอนที่ 1)

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…นวลศรี  โชตินันทน์  กรมวิชาการเกษตร

 

      “ธาตุไนโตรเจนและธาตุโพแทสเซียม เป็นธาตุหลักที่มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตมะพร้าว  ในขณะที่ธาตุคลอไรด์และจุลธาตุมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์แสงและการพัฒนาการเจริญเติบโตทางลำต้นและผล การใส่ปุ๋ยเคมีเป็นการเร่งการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากปุ๋ยเคมีมีปริมาณธาตุอาหารสูงพืชสามารถนำไปใช้ได้โดยตรงเมื่อใส่ลงในดินที่มีความชื้นเหมาะสม”

      ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกมะพร้าวของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2559 มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวจำนวน 1.13 ล้านต่อไร่ ผลผลิตรวมจำนวน 8.58 ตันผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 755 กิโลกรัม/ไร่  จากการรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2560 ผลผลิตต่อไร่ลดลงเนื่องจากมีการปลูกพืชเศรษฐกิจขึ้นมาทดแทน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลงจากปี2550 ร้อยละ28.01,50.23 และ 31.00นอกจากนั้นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญประสบกับแมลงศัตรูมะพร้าวระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนต้องมีการนำมะพร้าวเข้ามาจากต่างประเทศในปี 2559 ได้มีการนำเข้ามะพร้าวผลแห้งจำนวน 171,848 คิดเป็นมูลค่า 1,843 ล้านบาท โดยนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมกะทิกระป๋องสำเร็จรูปเพื่อส่งออก

          ปัจจุบันถึงแม้ว่าภาครัฐโดยกรมวิชาการเกษตรกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวเหล่านั้นได้ในบางพื้นที่ด้วยความร่วมมือของเกษตรกรบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตมะพร้าวในแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญของประเทศให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเหมือนเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลง

          นอกเหนือจากการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่ทำให้ผลผลิตไม่สามารถเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง เช่น ดิน น้ำ อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำฝน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาฝนทิ้งช่วงมาเป็นเวลานาน และปุ๋ยซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สวนมะพร้าว หากมะพร้าวขาดความสมบูรณ์ไม่แข็งแรงแล้ว โอกาสที่มะพร้าวจะให้ผลผลิตย่อมไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่อดอก (จั่น)ของมะพร้าวพันธุ์ไทยจะพัฒนาให้เห็นผลต้องใช้เวลาประมาณ 40 เดือน  ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวในประเทศ กรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยพืชสวนได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันโดยจัดทำแปลงทดลองสำหรับให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวด้วยความร่วมมือจากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ที่มีปัญหาประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากอันดับต้นของประเทศ

เพิ่มผลผลิตมะพร้าวต้องใช้เทคโนโลยีการจัดการสวน

         คุณวิไลวรรณ    ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าชุดโครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม  คุณวิไลวรรณ บอกว่า เกษตรกรทำสวนมะพร้าวที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนใหญ่จะปลูกมะพร้าวเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีการเลี้ยงวัวในสวนมะพร้าวบ้างเพียงหวังจะอาศัยมูลวัวเป็นปุ๋ยในสวนมะพร้าวอย่างไม่จริงจังเท่าไรนัก แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งก็ใส่ปุ๋ยมูลไก่เพราะหาซื้อได้ง่ายอายุมะพร้าวที่ปลูกไว้มีอายุประมาณ 50-60 ปี ปลูกตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย ตกทอดมาจนถึงลูกหลาน สวนมะพร้าวจะมีลักษณะโล่ง โปร่ง ผลผลิตก็น้อยลง จึงมีแนวคิดอยู่ 2 ทาง

      แนวทางแรก  ถ้าจะเพิ่มผลผลิต จะต้องรณรงค์ให้ชาวสวนมะพร้าวปลูกมะพร้าวทดแทนในพื้นที่ระหว่างต้น หรือปลูกแซมระหว่างแถว ต้นมะพร้าวที่มีอยู่เดิม ถ้าเรามีประชากรมะพร้าวรุ่นใหม่เกิดขึ้นประมาณ 6-7 ปีข้างหน้า ก็จะมีผลผลิตมะพร้าวเพิ่มขึ้นมา ซึ่งศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ผลิตมะพร้าวพันธุ์ดีให้เกษตรกร ได้แก่ พันธุ์ลูกผสมสวี1 ลูกผสมชุมพร2 ลูกผสมพันธุ์สามทางชุมพร1 ลูกผสมพันธุ์สามทางชุมพร2 พันธุ์มะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวพันธุ์ไทย

         ขณะนี้สถาบันวิจัยพืชสวนได้จัดทำโครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยสร้างแปลงแม่พันธุ์ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรเพื่อเพิ่มการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและกรมวิชาการเกษตรได้มีนโยบายในการกระจายต้นกล้าพันธุ์ดีสำหรับให้เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่ๆเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวเดิมและพื้นที่ปลูกใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยจังหวัดนราธิวาส  ปัตตานี และสตูล โดยร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่8 จังหวัดสงขลา และภาคเอกชน ซึ่งดำเนินการปลูกมะพร้าวพันธุ์ไทยที่ผลิตจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรไปแล้วประมาณ 10,000 ต้น

      แนวทางที่สอง  ต้องใช้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตประชากรมะพร้าว คือ การใส่ปุ๋ย ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องการใส่ปุ๋ยมะพร้าว หรือใส่แต่ใส่น้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของต้นมะพร้าว รอคอยแต่เก็บผลอย่างเดียว

     คุณวิไลวรรณ บอกว่า นอกจากจะปลูกมะพร้าวพันธุ์ดี สภาพแวดล้อมดีแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ของดินยังเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตมะพร้าว  การใส่ปุ๋ยตามความต้องการธาตุอาหารของพืชจะช่วยให้พืชนำธาตุอาหารไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ธาตุไนโตรเจนและธาตุโพแทสเซียม เป็นธาตุหลักที่มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตมะพร้าว  ในขณะที่ธาตุคลอไรด์และจุลธาตุมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์แสงและการพัฒนาการเจริญเติบโตทางลำต้นและผล การใส่ปุ๋ยเคมีเป็นการเร่งการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากปุ๋ยเคมีมีปริมาณธาตุอาหารสูงพืชสามารถนำไปใช้ได้โดยตรงเมื่อใส่ลงในดินที่มีความชื้นเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  โดยขาดการปรับปรุงบำรุงดิน อาจเป็นสาเหตุให้ดินเสื่อมคุณภาพได้ เช่น พีเอช (pH) ในดินลดลง ดินเป็นกรด เนื่องจากปุ๋ยบางชนิด เป็นปุ๋ยก่อกรด และดินอาจมีค่าความเค็มเพิ่มขึ้นดังนั้นการใส่ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดีขึ้นจุลินทรีย์ในดินสามารถทำงานได้ดีขึ้น

          ในการที่จะเพิ่มผลผลิตมะพร้าว เกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 จำนวน 4 กก/ต้น/ปีร่วมกับปุ๋ยคอก 50 กก/ต้น/ปี  โดยแบ่งใส่สองครั้ง คือ ต้นฤดูฝนกับปลายฤดูฝน  ซึ่งดินยังมีความชื้นอยู่ เกษตรกรบางสวนใส่ปุ๋ยเพียงปีละครั้ง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะให้ผลผลิตมะพร้าวมากตามที่เราต้องการ

ใส่ปุ๋ยอย่างไรมะพร้าวจะได้รับอาหารเต็มที่

 

           คุณวิไลวรรณ แนะนำว่า การใส่ปุ๋ยควรจะใส่ห่างจากโคนต้นมะพร้าวประมาณ 1.5 เมตร หรือ ใส่ระยะครึ่งหนึ่งของความยาวของใบมะพร้าวซึ่งยาวประมาณ 4 เมตร ไม่ควรใส่ชิดโคนต้น  เนื่องจากปลายรากมะพร้าวที่จะดูดปุ๋ยจะอยู่ที่ระยะห่างจากโคนต้น1.5 เมตรหรือขุดร่องรอบต้นมะพร้าวระยะห่างจากโคนต้น 1.5 เมตร แล้วโรยปุ๋ยลงในร่องไปรอบโคนต้น  แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องใส่ปุ๋ยในช่วงที่ดินมีความชื้นอยู่ คือใส่ในช่วงต้นฝนและปลายฝน

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสวนมะพร้าว

         การที่จะทำสวนมะพร้าวควรเลือกพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,200-1,500 มิลลิเมตร ต่อปี และฝนทิ้งช่วงไม่ควรนานเกิน 3 เดือน โชคดีของเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดินที่ปลูกมะพร้าวเป็นดินที่มีธาตุโพแทสเซียม และพื้นที่ปลูกมะพร้าวห่างจากทะเลประมาณ 50 กม. จากชายฝั่งจึงได้อิทธิพลจากไอน้ำเค็ม ทำให้ได้ผลผลิตมะพร้าวดีแม้จะมีปัญหาเรื่องน้ำสวนมะพร้าวแถบนี้ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว  และเกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่มีการให้น้ำกับสวนมะพร้าว

        ในระยะปี 2561-2562 สภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงฝนตกน้อยกว่าปกติ มีช่วงแล้งเป็นเวลายาวนาน เพราะฉะนั้น ปีใดที่มีปริมาณน้ำฝน 2,000 มิลลิเมตร ปีนั้นเกษตรกรได้ผลผลิตมะพร้าวดีมาก ดังนั้นน้ำจึงมีความสำคัญต่อการให้ผลผลิตของมะพร้าวเนื่องจากน้ำหรือความชื้น น้ำช่วยให้รากพืชดูดและลำเลียงแร่ธาตุและสารอาหารภายในลำต้น ช่วยปรับอุณหภูมิ ช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปได้ ถ้าพืชขาดน้ำจะมีการเหี่ยวเฉา

          จากการที่สถาบันวิจัยพืชสวนทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าว โดยศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรคัดเลือกแปลงมะพร้าวของเกษตรกรเป็นแปลงต้นแบบในแต่ละพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และให้ความรู้และสาธิตเกี่ยวกับการจัดการสวนมะพร้าว ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้แล้วว่า มะพร้าวควรจะมีการให้น้ำในช่วงแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขาดฝนหรือฝนทิ้งช่วงประมาณ 3 เดือนและรักษาความชื้นดิน จึงมีเกษตรกรบางรายที่ขุดบ่อเก็บกักน้ำและสูบน้ำขึ้นมารดต้นมะพร้าวช่วงหน้าแล้ง

 

          คุณวิไลวรรณ บอกว่า ประเทศไทยพบช่วงแล้งติดต่อกันสองปี งานวิจัยมะพร้าวได้ศึกษาวิจัยแปลงที่ให้น้ำและไม่ให้น้ำ พบว่า แปลงที่ไม่ให้น้ำใบมะพร้าวจะแห้งและหักพับลงมา ส่วนแปลงที่ให้น้ำใบมะพร้าวจะเหี่ยวแต่ก็ฟื้นตัวได้เร็ว  มะพร้าวควรจะได้น้ำ 600 ลิตร/สัปดาห์หรือ 90 ลิตร/วัน เวลาที่ให้น้ำก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ควรจะให้น้ำต้นมะพร้าวในช่วงเวลาเช้า- ช่วงสาย ซึ่งต้นมะพร้าวจะได้นำน้ำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ถ้าเกษตรกรต้องการให้มะพร้าวให้ผลผลิตดี ไม่ควรรอฝนอย่างเดียว ควรมีการให้น้ำบ้าง เมื่อให้น้ำแล้วก็ควรหาวัสดุมาคลุมโคนต้นมะพร้าว เช่น เปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าวหรือใบมะพร้าวที่อยู่ในสวนนำมาสับและคลุมโคนต้นไว้ ก็จะรักษาความชุ่มชื้นในดิน ป้องกันความชื้นในดินไม่ให้ระเหยออกมาด้วยการคลุมพื้นที่รอบโคนต้นมะพร้าวนี้เกษตรกรในประเทศศรีลังกาได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพราะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากสถาบันวิจัยมะพร้าวถึงข้อดีของการคลุมพื้นที่รอบโคนต้นมะพร้าวอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีความชื้น รากมะพร้าวที่เป็นรากฝอย รากหาอาหาร จะขึ้นมาข้างบน เมื่อใส่ปุ๋ยในช่วงฤดูฝน รากเหล่านี้จะช่วยดูดปุ๋ยไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        เทคโนโลยีการจัดการสวนมะพร้าวยังครอบคลุมไปถึงการคลุมวัสดุรอบโคนต้นมะพร้าว หากเกษตรกรใช้วัสดุคลุมต้นอย่างไม่มีเทคนิค หรืออย่างไม่ระมัดระวังแล้ว อาจเสี่ยงกับปัญหาหรือก่อให้เกิดศัตรูมะพร้าวประเภทด้วงเข้ามาวางไข่ที่วัสดุคลุมโคนต้นได้ ซึ่งในตอนต่อไปจะกล่าวกันถึงเรื่องนี้

        สนใจปรึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. 0 2579 0583 และที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เลขที่ 70 หมู่ 2 ต.วิสัยใต้ อ.สวี จ.ชุมพร 86130 โทร. 077 556 073 (0 775 6073)  โทรสาร 077 556 026 (0 7755 6026)