“ประภัตร” ชูเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จัดทำแปลงนาสาธิต หวังเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรนำไปปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เน้นเครื่องจักรการเกษตร โดรน ที่มีความแม่นยำสูง เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในการทำงาน
วันที่ 16 พฤษภาคม 2563 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว นำคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาพร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานแปลงนาสาธิตเพื่อร่วมกันหารือถึงการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้ และจัดทำเป็นแปลงสาธิตเพื่อให้เกษตรกรที่สนใจได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาดูงาน ณ แปลงนาสาธิต อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
นายประภัตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความคิดในการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการทำนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร โดยการนำเทคโนโลยีประเภทเครื่องจักร โดรน ฯลฯ ที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในการทำงาน อาทิ การตรวจวัดในเรื่องของสภาพดิน ความชื้นในดิน แร่ธาตุในดิน ความเป็นกรดด่าง สภาพปริมาณแสงธรรมชาติ รวมถึงเรื่องศัตรูพืชต่างๆ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะจัดทำเป็นรูปแบบแปลงนาสาธิต ในพื้นที่นาขนาด 138 ไร่ ให้เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาดูงาน และนำกลับไปปรับใช้ในการทำเกษตรของตนเองได้
“นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา) มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกร จึงได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ให้พี่น้องเกษตรกรสามารถมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยในวันนี้นอกเหนือจากการจัดทำแปลงนาแล้ว ยังได้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมปศุสัตว์พร้อมทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ที่มาให้คำแนะนำช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติม อาทิการปลูกขิง การเลี้ยงโคเนื้อ-โคขุน และการปลูกโกโก้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนในการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้น” นายประภัตร กล่าว
ด้านนายสุดสาคร กล่าวว่า ในส่วนของกรมการข้าวนั้น จะนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาใช้ในแปลงนาสาธิต ตั้งแต่ 1.การเตรียมดิน โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ที่มีเครื่องปรับระดับดินด้วยเลเซอร์ (Laser land leveling) 2.ระบบน้ำ จะนำเครื่องวัดความชื้นในดินและระบบน้ำอัจฉริยะมาใช้ซึ่งจะแสดงผลทุกชั่วโมงผ่าน Line application 3.การติดตามสภาพแวดล้อมด้วยสถานีตรวจวัดอากาศ และระบบอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) 4.การจัดการปุ๋ยจะนำเครื่องวัดปริมาณธาตุอาหารในใบพืชมาใช้ 5.การอารักขาพืช จะนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นสารและสำรวจสุขภาพพืช ปริมาณข้าวปน และวัชพืชพร้อมทั้งถ่ายภาพศัตรูพืช และ 6.ระบบช่วยตัดสินใจด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยทั้งหมดจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าว และสามารถลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้