“ประภัตร”  จัดติวเข้มผู้ผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวให้ได้คุณภาพ เผย”หอมปทุม”เกษตรกรต้องการมากที่สุด

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประภัตร” ยึดหมู่บ้านอนุรักษ์ความไทย จัดติวเข้มเกษตรกรผู้ร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวฯ หวังให้ได้คุณภาพที่ตลาดและเพียงพอ เผยฤดูการผลิตปี 2563 มีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวถึง 60 ล้านไร่ ขณะที่อนาคตมีความต้องการถึง 1.2 ล้านตัน พันธุ์ข้าวนิ่ม หรือหอมปทุมมีความต้องการมากที่สุด

       นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวคุณภาพดี ปี 2563 ภายใต้รูปแบบศูนย์ข้าวชุมชน ณ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 1พ.ค. 63 ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ปี 2563 ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าวอย่างเคร่งครัดเนื่องจากในปี 2563 มีความต้องการปลูกข้าวถึง 60 ล้านไร่ แต่มีเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียง ซึ่งอนาคตเกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ กว่า 1.2 ล้านตันเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด คือ เมล็ดพันธุ์ข้าวนิ่ม หรือข้าวหอมปทุม

      เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพ จึงได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่กรมการข้าวร่วมกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะใน จ.สุพรรณบุรี มีพื้นที่ผลิตกว่า 2 หมื่นไร่ มาทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้กับเกษตรกร พร้อมประกันราคาเมล็ดพันธุ์ข้าว ตันละ 11,000 บาท ในความชื้นที่ไม่เกินร้อยละ 25  โดยกรมการข้าวจะจัดหาเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อที่จะนำไปปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก และหลังการเก็บเกี่ยว จะต้องนำข้าวทั้งหมดมาจำหน่ายคืนให้กับกรมการข้าว

     กระนั้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เท่าที่ทราบ โดยเฉพาะพื้นที่ จ. สุพรรณบุรี มีต้นทุนในการผลิตข้าว มากถึงไร่ละ 6,000 บาทถือว่าสูงมากพอสมควร จึงพยายามที่จะปรับเปลี่ยนการส่งเสริมการผลิตข้าวแบบใหม่ เบื้องต้นภาคเอกชน ยืนยันว่าสามารถผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่มีต้นทุนการผลิต ที่ประมาณ 4,000 บาท ต่อไร่เท่านั้น

     ด้านนายขจรศักดิ์ เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยี เข้ามาร่วมในการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น เบื้องต้น มีการส่งเสริมการผลิตนำร่องในพื้นที่สุพรรณบุรีเป็นหลัก โดยกรมการข้าว มีหน้าที่ ให้ความรู้และผลิตเมล็ดพันธุ์ทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน จากนั้น กรมการข้าวจะทำหน้าที่ ซื้อเมล็ดพันธุ์  จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด เพื่อนำกลับไปเข้าสู่ขั้นตอนปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และนำไปส่งเสริมการผลิต ข้าวคุณภาพตามความต้องการของตลาดต่อไป