มหันตภันร้ายจาก “ โรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราในประเทศไทย”

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

      “สถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในประเทศไทยนั้น มีรายงานการระบาดของโรคครั้งแรกในเดือนกันยายน 2562 จนถึงเดือนธันวาคม 2562 ในพื้นที่ ปลูกยางทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด นราธิวาส ยะลา ตรัง พังงา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ และ จังหวัดสตูล) รวมพื้นที่ที่ได้รับความเสียจากโรค 450,433 ไร่”

      ได้อ่านบทความของ คุณอารมณ์ โรจน์สุจิตร จากศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยางสุราษฎร์ธานี การยางแห่งประเทศไทย ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของ “โรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา”ในปัจจุบัน จึงนำมาเผยแพร่บางส่วน เนื่องจากเห็นว่า เป็นผลกระทบที่ซ้ำเติมเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งราคายางกำลังตกต่ำ

      ในบทความระบุว่า  การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา ซึ่งถือเป็นโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ของยางพารา ทำให้เกิดอาการจุดแผลบนใบยางแก่และทำให้ใบยางร่วงอย่างรุนแรง พบระบาดในยางพาราครั้งแรกในปี 2016 ในพื้นที่ปลูกทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ใบยางร่วงอย่างรุนแรง

      จากนั้นได้แพร่ระบาดสู่ทางตอนใต้และหมู่เกาะอื่นๆ รวมทั้งประเทศปลูกยางในแถบใกล้เคียงอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา และประเทศไทย รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงแล้วไม่น้อยกว่า 2.9 ล้านไร ทำให้โรคชนิดนี้เป็นโรคยางพาราที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากโรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบทำให้ผลผลิตยางลดลงอย่างมหาศาล

        สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในประเทศไทยนั้น มีรายงานการระบาดของโรคครั้งแรกในเดือนกันยายน 2562 จนถึงเดือนธันวาคม 2562 ในพื้นที่ ปลูกยางทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด นราธิวาส ยะลา ตรัง พังงา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ และ จังหวัดสตูล) รวมพื้นที่ที่ได้รับความเสียจากโรค 450,433 ไร่ ผลจากการแยกเชื้อเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการได้เชื้อรา Colletotrichum sp. และ Pestalotiopsis sp. ( Arom and Krissada, 2019) ซึ่งจะรายงานผลการพิสูจน์โรคถึงเชื้อสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

         จังหวัดนราธิวาส มีรายงานการระบาดของโรคครั้งแรกเดือนกันยายน 2562 ในพื้นที่ ปลูกยาง 8 อำเภอ คือ อ.แว้ง อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.เมือง อ.อำเภอศรีสาคร อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโกลค ส่วนพื้นที่ปลูกยางใน อ.เจาะไอร้อง อ.เมืองนราธิวาส อ.ยี่งอ และ อ.บาเจาะ รายงานพบโรคหลังจากนั้นต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พันธุ์ยางที่ปลูกทุกพันธุ์เป็นโรคใบร่วงรุนแรงมากถึง 100% กับยางพันธุ์ เช่น RRIM 600, RRIT 251 และ PB 311 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม 422,600 ไร่ (2 ธันวาคม 2562)

        จังหวัดยะลา มีรายงานการระบาดของโรค ในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง ในเดือนตุลาคม 2562 และต่อมาในพื้นที่ อ.รามัน และ อ.บันนังสตาร์ สภาพการระบาดใบร่วงรุนแรงมาก รวมพื้นที่ 2,160 ไร่(ข้อมูล 2 ธันวาคม 2562)

       จังหวัดตรัง มีรายงานการระบาดของโรค ในพื้นที่ ต.โพรงจระเข้ ต.หนองชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว ในเดือนตุลาคม 2562 ต่อมาเดือนพฤศจิกายนพบระบาดในพื้นที่ ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว และ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง สภาพการระบาดใบร่วงปานกลาง-รุนแรง กับยางพันธุ์ RRIT 251 RRIM 600 และ ไม่ทราบชื่อพันธุ์ รวมพื้นที่ 747 ไร่(ข้อมูล 2 ธันวาคม 2562)

       จังหวัดพังงา มีรายงานการระบาดของโรค ในพื้นที่ ต.ท้ายเหมือง ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง ต.ทุ่งคาโงก อ.เมืองพังงา ต.กะปง ต.ท่านา ต.เหมาะ ต.เหล ต.รมณีย์ อ.กะปง และ ต.ตำตัว อ.ตะกั่วป่า ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งจากการประเมินการร่วงของใบยางจากใบใหม่ที่เริ่มจะผลิใหม่แล้วและจากการสอบถามเกษตรกรคาดว่าโรคระบาดในช่วงเดียวกับพื้นที่ จ.นราธิวาสประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 สภาพการระบาดใบร่วงรุนแรงมาก กับยางพันธุ์ RRIT 251 RRIM 600 และ PB 235 รวมพื้นที่ 21,476 ไร่(ข้อมูล 2 ธันวาคม 2562)

     จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายงานการระบาดของโรค ในพื้นที่ ต.คลองศก อ.พนม ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งจากการประเมินการร่วงของใบยางจากใบใหม่ที่เริ่มจะผลิใหม่แล้วและจากการสอบถามเกษตรกรคาดว่าโรคระบาดในช่วงเดียวกับพื้นที่ จ.พังงาประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 สภาพการระบาดใบร่วงรุนแรงมาก กับยางพันธุ์ RRIT 251 RRIM 600 รวมพื้นที่ 1,500 ไร่(ข้อมูล 2 ธันวาคม 2562)

     จังหวัดปัตตานี มีรายงานการระบาดของโรค ในพื้นที่ ต.ลุโบะยิไร อ.มายอ และ ต.ตะโละแมะนา อ.ทุ่งยางแดง ในเดือนพฤศจิกายน 2562 (สังเกตพบอาการโรคประมาณเดือนกันยายน) รวมพื้นที่ 1,500 ไร่(ข้อมูล 2 ธันวาคม 2562)

     จังหวัดกระบี่ มีรายงานการระบาดของโรค ในพื้นที่ ต.เขาทอง และ ต.ในช่อง อ.เมืองกระบี่ สภาพการระบาดใบร่วงรุนแรงมาก ในเดือนพฤศจิกายน 2562 รวมพื้นที่ 250 ไร่(ข้อมูล 2 ธันวาคม 2562)

     จังหวัดสงขลา มีรายงานการระบาดในพื้นที่ ต.ปลักหนู อ.นาทวี ในเดือนพฤศจิกายน สภาพการระบาดพบว่าใบร่วงน้อยยังไม่กระทบต่อผลผลิต รวมพื้นที่ 101 ไร่(ข้อมูล 2 ธันวาคม 2562

    จังหวัดสตูล มีรายงานการระบาดของโรคช่วงต้นเดือนธันวาคมในพื้นที่ ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ สภาพการระบาดพบว่าใบร่วงรุนแรงมาก พื้นที่ระบาดโรค 500 ไร่กับยางพันธุ์ RRIT 251 และ RRIM 600

      จากสถานการณ์การระบาดที่รายงานข้างต้น เนื่องจากโรคใบร่วงลักษณะนี้ไม่เคยพบรายงานมาก่อนในประเทศไทย จึงสันนิษฐานว่าโรคแพร่ระบาดมาจากประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้โรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลมมรสุม ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นอิทฺธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านเกาะสุมาตราจากตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านภาคใต้ทางฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นไปได้ที่จะพัดพาสปอร์ของเชื้อสาเหตุโรคใบร่วงที่กำลังระบาดมาและปะทะกับยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สูงบนควนเขาจึงทำให้พบโรคระบาดในบริเวณนี้ก่อนจากนั้นโรคได้แพร่ลุกลามสู่พื้นที่ใกล้เคียงในลำดับต่อมา

       จะเห็นว่าพื้นที่ที่พบโรคในช่วงแรกๆเป็นพื้นที่บริเวณที่สูงบนภูเขา โดยในจังหวัดนราธิวาส พื้นที่ที่พบโรคและรายงานการระบาดครั้งแรกอยู่ในเขต อ.แว้ง อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.อำเภอศรีสาคร อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโกลค เช่นเดียวกับพื้นที่ระบาดใน จ.ยะลาที่พบโรคครั้งแรกใน พื้นที อ.เบตง ซึ่งเป็นบริเวณที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจแพร่ระบาดมาจากประเทศมาเลเซีย เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศมาเลเซียแนวชายแดนติดต่อกับรัฐกลันตันและรัฐเคดะห์ของประเทศมาเลเซียซึ่งมีการระบาดของโรคใบร่วงชนิดนี้ตั้งแต่ปี 2017

        ลักษณะอาการของโรคเกิดอาการบนใบแก่ ลักษณะจุดแผลกลมเนื้อเยื่อตาย ใบร่วง และกิ่งแห้งตายจากยอดโดยอาการเริ่มแรก ใต้ใบมีลักษณะรอยช้ำค่อนข้างกลม ผิวใบด้านบนบริเวณเดียวกันสีเหลือง(chlorosis) ต่อมาเนื้อเยื่อบริเวณนี้ขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีคล้ำขอบแผลดำ (necrosis) และเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแห้ง(necrosis) สีน้ำตาลจนถึงขาวซีด รอบแผลไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบ(no yellow halo) รูปร่างแผลค่อนข้างกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 0.5-3 เซนติเมตร จำนวนจุดแผลบนแผ่นใบมีมากกว่า 1 แผล อาจเจริญลุกลามซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ ระยะรุนแรงใบเหลืองและร่วงในที่สุด(ภาพที่ 8) เชื้อรายังเข้าทำลายกิ่งส่วนใกล้ปลายยอดทำให้เกิดอาการแห้งตายจากยอดได้ด้วยเช่นกัน

         ลักษณะอาการของโรคมีจุดเด่นที่แตกต่างจากโรคอื่นๆของยางพารา นั่นคือแผลกลมค่อนข้างใหญ่ อาการบนใบที่เป็นสีเขียวจะไม่มีลักษณะวงสีเหลืองล้อมรอบ เชื้อราหากมีปริมาณเชื้อราเข้าทำลายอย่างรุนแรงอาจทำให้ใบยางร่วงทั้งที่อาการของโรคยังไม่พัฒนาถึงระยะอาการเป็นเนื้อเยื่อแผลขาวซีดก็ได้ ในกรณีของพันธุ์ยางที่มีแนวโน้มทนต่อโรค หรือมีจำนวนแผลของโรคน้อย หรืออยู่ในสภาพการระบาดที่ไม่เหมาะสม ใบยางอาจไม่ร่วง อาการจุดแผลอาจขยายใหญ่ หรือมีวงแผลเจริญซ้อนจากแผลเดิม เนื้อเยื่อบริเวณแผลที่แห้งอาจพบเชื้อราชนิดอื่นเจริญอยู่เป็นวงๆสีดำทำหน้าที่ผู้ย่อยสลาย(ภาพที่ 9)

       ใบยางที่ร่วงแห้งอยู่บนพื้นสามารถแยกแยะจากโรคยางชนิดอื่นได้อย่างชัดเจน นั่นคือลักษณะแผลแห้งกลมสีซีดกว่าสีแผ่นใบชัดเจน หรือในกรณีที่อาการยังไม่พัฒนาแต่ร่วงก่อนจะมีลักษณะกลมเป็นวงสีคล้ำกว่าผิวใบ

      สภาพการระบาดยังไม่ชัดเจนแต่ระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูงในระยะใบแก่ จากการรวบรวมข้อมูล โดย Shaji Philip (2019) รายงานว่าพบโรคครั้งแรกของปีกับใบยางแก่ในช่วงต้นฤดูฝน สภาพที่มีฝนตกสลับกับสภาพแล้งทำให้เกิดโรครุนแรงและการแพร่ระบาดของโรคเร็วขึ้น พันธุ์ยางทุกพันธุ์อ่อนแอต่อโรค และโรคแพร่กระจายได้โดย ลม ฝน การเคลื่อนย้ายวัสดุปลูก ท่อนพันธุ์ หรือพืชจากแหล่งโรคระบาด เป็นต้น

       จากการตรวจสอบและสำรวจโรคยางพาราในพื้นที่ระบาดช่วงเดือน กันยายน-พฤศจิกายน 2562 สามารถพบพืชอื่นๆแสดงอาการโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคยางชนิดใหม่ ทั้งพืชที่เจริญเป็นวัชพืช พืชร่วมในสวนยาง พืชผักสวนครัว และพืชยืนต้นอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงกับแปลงยางที่เป็นโรคเช่นเดียวกัน

       อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ทาง คุณอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สยยท.) ได้ฝากบอกถึงการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ที่จะต้องให้วามสำคัญกับโรคนี้เพราะสปอร์จะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมากในสภาวะอากาศที่เหมาะสม ฉะนั้นทาง กยท.จะต้องออกมาช่วยเกษตรกรรายย่อย ซึ่งปัจจุบันแม้แต่เงินจะใช้จ่ายในครอบครัวแทบไม่พอจ่ายอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ กยท.ที่ต้องนำเงิน จากการเก็บเงิน Cess มาหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ก่อนที่จะวิกฤติมากกว่าที่เป็นอยู่

ที่มาของภาพ : การยางแห่งประเทศไทย