กรมวิชาการเกษตร ผลิตชีวภัณฑ์ BS-DOA 24 ส่งต่อเกษตรกรคุมโรคเหี่ยวในขิง ปทุมมา กระชาย ขมิ้นชัน มันฝรั่ง พริก และมะเขือเทศ ชี้แบคทีเรียต้นเหตุโรคเหี่ยวอยู่ในดินได้นาน แถมแอบอาศัยอยู่ในหัวพันธุ์ทำให้เกิดโรคซ้ำหากนำไปปลูก เตือนไทยมีพืชอาศัยสุ่มเสี่ยงโรคเหี่ยวเพียบ ยันยังไม่มีสารเคมีป้องกันกำจัด เผยเอกชนรับลูกขยายผลชีวภัณฑ์แล้ว
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรียราลสโตเนีย โซลานาซีเอรัม (Ralstonia solanacearum) จัดเป็นเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืชที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดโรคเหี่ยวกับพืชมากกว่า 200 ชนิด โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่เชื้อเข้าทำลาย สภาพแวดล้อม และสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรีย ประเทศไทยมีการปลูกพืชหลายชนิดที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคชนิดนี้ ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริก มันฝรั่ง ขิง ขมิ้น ไพล และปทุมมา
เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน และสามารถเข้าทำลายพืชทางราก โดยเข้าตามรอยแผลที่เกิดจากการทำลายของแมลง ไส้เดือนฝอย รอยฉีกขาดของรากหรือแผลที่เกิดในธรรมชาติ สามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำได้ดีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกจะมีการระบาดของโรครุนแรงและรวดเร็ว รวมทั้งเชื้อนี้สามารถติดไปกับหัวพันธุ์โดยแอบแฝงอยู่ในหัวพันธุ์และอยู่ข้ามฤดูได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมและปริมาณของเชื้อโรคมากพอ ก็จะแสดงอาการของโรคออกมาโดยเฉพาะเมื่อนำหัวพันธุ์ไปปลูกในสภาพแปลงทำให้เกิดการระบาดของโรคในแปลงปลูก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การป้องกันกำจัดโรคนี้ทำได้ยากเนื่องจากแบคทีเรียสาเหตุของโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในดินเป็นเวลานานและมีพืชอาศัยกว้าง ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค การควบคุมโรคพืชโดยชีววิธีเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันกำจัดโรคพืชที่ช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ไม่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับอย่างมาก
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยชีวภัณฑ์แบคทีเรียบาซิลัส ซับทีลิส (Bacillus subtilis, BS) สายพันธุ์ BS-DOA 24 ในการควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum โดยได้คัดเลือก BS ในธรรมชาติมาทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการและในสภาพแปลงได้ผลดีจึงพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์แบคทีเรียบาซิลัส ซับทีลิส หรือบีเอส สายพันธุ์ BS-DOA 24 ชนิดผงที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเหี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด เกษตรกรสามารถปลูกพืชซ้ำที่เดิมได้ ปัจจุบันได้มีการนำชีวภัณฑ์ไปขยายผลในการใช้ควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ในขิง ปทุมมา กระชาย ขมิ้นชัน มันฝรั่ง พริก และมะเขือเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว
“วิธีการใช้ให้แช่หัวพันธุ์หรือเมล็ดในสารละลายชีวภัณฑ์บีเอส จำนวน 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูก ส่วนในแปลงปลูกหลังปลูกแล้วให้รดด้วยสารละลาย ชีวภัณฑ์บีเอส อัตราส่วน 50 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วแปลงทุก 30 วัน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคเหี่ยว ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-8599” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว