ขีดเส้นภายใน 6 เดือนเกษตรกรเมืองจันท์มีรายได้เพิ่มเดือนละหมื่นบาทต่อครอบครัว

  •  
  •  
  •  
  •  

คณะกรรมาธิการวิทย์ฯ จับมือ สกสว.ผลักดันองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรของ จ.จันทบุรี ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ตั้งเป้าอีก 6 เดือน ต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรครอบครัวละ 1 หมื่นบาทต่อเดือน

คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางการผลักดันให้ จ.จันทบุรี เป็นเมืองแห่งยุทธศาสตร์มหานครผลไม้ มีอุตสาหกรรมอัญมณีและอุตสาหกรรมประมงที่เข้มแข็ง ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีนายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการศึกษาดูงานครั้งนี้

นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดจันทบุรีว่า  ที่ต้องการให้จังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรคุณภาพ ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ การเป็นเมืองท่องเที่ยวนิเวศชุมชน และประตูการค้าชายแดนสู่ประชาคมอาเซียนนั้น เพราะว่าปัจจุบัน จ.จันทบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางภูมิประเทศสูง ทำให้เกิดความสำเร็จเชิงรายได้จากการทำประมง การทำอัญมณี การทำรังนก ส่งออกสินค้าเกษตรจนได้รับฉายา “มหานครแห่งผลไม้” และตลาดที่เติบโตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีล้งจีน โจทย์สำคัญของจังหวัดคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน และแก้ปัญหาในมิติต่างๆ

ด้าน ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทีมคณะกรรมการฯ มีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรของ จ.จันทบุรี ให้มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ เพิ่มมูลค่าให้มังคุดเกรด 2 เป็นต้น โดยคณะกรรมาธิการฯ จะร่วมกันทำงานกับกระทรวง อว. และเชื่อมโยงการทำงานกับพื้นที่ เพื่อเป้าหมายหลักคือ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นครอบครัวละ 10,000 บาทต่อเดือน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยคณะกรรมาธิการฯ จะเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ส่วนราชการ จังหวัด ให้ทำงานอย่างบูรณาการกัน

สำหรับในส่วนของผลไม้ต้องใช้นวัตกรรมมาช่วยในส่วนของ 1) คุณภาพผลผลิต 2) เครื่องมือและเทคโนโลยีลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 3) การเพิ่มมูลค่าให้ส่วนอื่นๆของผลไม้ เช่น เปลือกมังคุด เปลือกทุเรียน ฯลฯ 4) การจัดการระบบพันธสัญญา/ระบบล้ง 5) สร้างการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่มีศักยภาพ 6) หนุนเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมถึงจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการถ่ายเทข้อมูลความรู้ด้านผลไม้ ไปสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จริง

ขณะที่ ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. ให้ข้อมูลว่า แนวทางการทำงานของ สกสว. ตอนนี้คือ การสร้างระบบที่รวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ ส่งต่อผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้คณะทำงาน ได้ข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ขับเคลื่อนงานต่อไป