กรมวิชาการเกษตร ประสบผลสำเร็จปรับปรุงพันธุ์พริกใหญ่ จนได้พันธุ์ใหม่ “พิจิตร 2” เผยคุณสมบัติพิเศษทนต่อน้ำขัง ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 3,675 กิโลกรัม ผลใหญ่ เรียว ยาว เนื้อหนา สีแดงเข้ม เผ็ดน้อย ต้นสูงเก็บเกี่ยวง่าย แถมเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกรุ่นต่อไปได้แทนการซื้อใหม่ทุกปี เหมาสำหรับป้อนโรงงานผลิตซอสพริก
เสริมสุข สลักเพ็ชร์
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พริกใหญ่ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตซอสพริกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีพริกเป็นส่วนประกอบที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 2 พันล้านบาท และมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ที่ผ่านมาพริกใหม่ที่ผลิตป้อนโรงงานผลิตซอสพริกนั้น ยังขาดการพัฒนาพันธุ์พริกใหญ่ให้มีปริมาณ และคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะพริกใหญ่ที่มีรสชาติเผ็ดน้อยซึ่งเป็นพริกที่โรงงานผลิตซอสพริกมีความต้องการผลผลิตเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พริกใหญ่ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่โรงงานผลิตซอสพริกต้องการ คือ ผลสุกมีสีแดงเข้ม เนื้อหนา ผลมีขนาดใหญ่ ยาว และรสชาติเผ็ดน้อย จึงได้มีการปรับปรุงพันธุ์พริกใหญ่เริ่มขึ้นมา โดยเริ่มดำเนินการผสมข้ามพันธุ์ในปี 2540 การคัดเลือกพันธุ์ การเปรียบเทียบพันธุ์กับพันธุ์พริกพื้นเมืองและพันธุ์การค้า และการทดสอบพันธุ์ทั้งในแหล่งปลูกภายในศูนย์วิจัยของกรมวิชาการเกษตรและแปลงเกษตรกรหลายจังหวัด ที่เป็นแหล่งที่เหมาะสมกับการปลูกพริกเพื่อทำซอสพริก จนประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการ
หลังจากที่ได้การปรับปรุงพันธุ์พริกใหญ่จนประสบความสำเร็จ และผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรในปี 2562 ใช้ชื่อว่า “พริกใหญ่พันธุ์พิจิตร 2” ซึ่งมีลักษะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองของเกษตรกรทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน โดยในฤดูแล้งให้ผลผลิต 3,675 กิโลกรัม/ไร่ ฤดูฝนให้ผลผลิต 1,465 กิโลกรัม/ไร่ มีต้นสูง 78 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์การค้าทำให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ที่สำคัญผลมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด คือ มีขนาดใหญ่เรียวยาว ยาว 11.7 เซนติเมตร เนื้อหนาเฉลี่ย 1.95 มิลลิเมตร มีผลยาวกว่าพริกพันธุ์อื่นๆ ผลมีสีแดงเข้มและเผ็ดน้อย โดยมีความเผ็ด 26,800 สโควิลล์ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปผลิตเป็นซอสพริกตรงกับความต้องการของโรงงาน
“พริกใหญ่พันธุ์พิจิตร 2 เป็นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อสภาพน้ำขัง และสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งยังเป็นพันธุ์ผสมเปิดทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ปลูกในรุ่นต่อไปได้แทนการใช้พันธุ์ลูกผสมที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี ซึ่งราคาเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่เกษตรกรซื้อในปัจจุบันจะมีราคาประมาณ 37,500 บาทต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรจะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 30-40 กรัมต่อไร่ จากการประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัย แพร่ และ อุทัยธานี พบว่าเกษตรกรมีความพอใจพริกพันธุ์ใหญ่พิจิตร 2 มากที่สุดในด้านความสูงของต้นที่ทำให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และความทนทานต่อความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะเมื่อฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์พริกใหญ่พิจิตร 2 ได้ปีละ 10 กิโลกรัม/ปี ซึ่งเพียงพอสำหรับพื้นที่ปลูกจำนวน 300 ไร่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว