“ไทย ไรซ์ นามา” ยกทัพลุยเมืองสุพรรณฯแนะเทคนิคทำนาให้เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดโลกร้อน(มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

      “ไทย ไรซ์ นามา”คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ที่เป็นเกษตรกรและผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเกษตรในพื้นที่ 6 จังหวัด รวมจำนวน 454,200 คน มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรังรอบละ 2.8 ล้านไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตสูงสุดประมาณ 4 ล้านตันต่อปี”

         ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้นิน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “ไทย ไรซ์ นามา ” เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและลดโลกร้อนนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 “ไทย ไรซ์ นามา ” ได้ดำเนินกิจกรรม ณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวไม้ซุง ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

         การดำเนินกิจการในครั้งนี้ปรากฏว่า มีเกษตรกรกว่า 300 รายในอำเภอต่างๆของจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมเปิดตัวโครงการ โดยมีนายสุริยัน วิจิตรเลขการ รองผู้อำนวยการโครงการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวต้อนรับ คณะของผู้บริหารที่ส่วนเกี่ยวข้องทั้งนายเกออร์ก ชมิตท์ เอกอัครราชฑูตเยอรมันประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไปเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้

           นางสาวนนทิชา  วรรณสว่าง  รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวความเป็นมาในฐานะคณะผู้จัดงานเปิดตัวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน หรือ GIZ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก NAMA Facility วงเงิน 14.9 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 590 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (ปี 2561-2566) เพื่อดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร 1 แสนครัวเรือนในเขตพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2.8 ล้านไร่

                                                                         นนทิชา  วรรณสว่าง

       วัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่เกษตรกร ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการผลิตข้าวที่ได้รับมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (GAP++) นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อให้มีมาตรการจูงใจที่สนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการดำเนินงานเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี 3 กลุ่ม

           กลุ่มแรก กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐาน ประกอบด้วย การปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ให้มีความสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในช่วงการปลูกข้าว การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รวมทั้งการจัดการฟางและตอซัง กลุ่มที่สอง กลุ่มเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะพื้นที่ ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวที่ปลูก วิธีการปลูกข้าวการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่เกษตรกร และกลุ่มที่สาม กลุ่มเทคโนโลยีการผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนหรือมาตรฐาน GAP++ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตข้าวที่มีความสมดุลใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ  สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สามารถเป็นพื้นฐานที่ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDG) ของสหประชาชาติได้ต่อไป

           โครงการนี้คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ที่เป็นเกษตรกรและผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเกษตรในพื้นที่ 6 จังหวัด รวมจำนวน 454,200 คน มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรังรอบละ 2.8 ล้านไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตสูงสุดประมาณ 4 ล้านตันต่อปี เกษตรกรรายย่อยเกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบปัจจุบันไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

           ทั้งนี้โครงการฯจะมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนและให้การฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ช่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบูรณาการกับโครงการเงินกู้สีเขียวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้แก่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเกษตร รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ การพัฒนามาตรฐาน Thai Rice GAP++ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดและห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

          ด้านนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “โครงการไทย ไรซ์ นามา” ผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรจำนวน 100,000 ครัวเรือนในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลางได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนระบบการทำนาในปัจจุบันไปสู่ระบบการทำนาแบบยั่งยืน”

            ทั้งนี้โครงการฯ ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พัฒนาเงินทุนหมุนเวียนเพื่อจ่ายค่าบริการปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ให้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถผ่อนชำระคืนภายหลังได้ในระยะเวลา 3 ฤดูปลูก เงินทุนหมุนเวียนนี้จะเชื่อมโยงกับสินเชื่อสีเขียวของ ธ.ก.ส.ซึ่งให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อเครื่องจักรกลมาใช้ในกิจกรรมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

            โครงการคาดการณ์ว่า จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.73 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่า เมื่อภาวะโลกร้อนยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงทั่วทุกมุมโลก

          

           ขณะที่นายเกออร์ก ชมิตท์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อน เราทุกคนต่างตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน เกษตรกรเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรกรเองก็สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ ผมรู้สึกดีใจที่พวกเราทุกคนร่วมมือกันหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาภายใต้โครงการไทย ไรซ์ นามา และแสดงวิธีการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ที่จะช่วยดูแลรักษาธรรมชาติ เพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร”


            ส่วนนายสุริยัน วิจิตรเลขาการ รองผู้อำนวยการโครงการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีที่โครงการฯ จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะมีด้วยกัน 4 วิธี ได้แก่ เทคนิคการปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ซึ่งช่วยทำให้หน้าดินเรียบเสมอกัน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถประหยัดค่าสูบน้ำมากถึง 50 เปอร์เซนต์ เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่ช่วยให้ระบบรากข้าว การแตกกอ และความสมบูรณ์ของข้าวดีขึ้น

           เทคนิคการใส่ปุ๋ยตามคำวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุนการใช้ปริมาณปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น และรักษาแร่ธาตุในดิน ทำให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น และวิธีสุดท้ายคือ การจัดการฟางและตอซัง ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรหยุดเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในนาข้าว ลดฝุ่นละอองและหมอกควันในขณะเดียวกัน เกษตรกรสามารถนำฟางข้าวไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ การใช้เทคนิคเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการปลูกข้าวแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวและได้ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น อีกทั้งยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงตลาดจากภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

            โครงการไทย ไรซ์ นามา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ) ประจำประเทศไทย ได้รับทุนการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 14.9 ล้านยูโร (คิดเป็นเงินไทย 530 ล้านบาท) จากรัฐบาลประเทศเยอรมนี รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์ก และสหภาพยุโรป ผ่าน nama facilily มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2561-2566

            “ไทย ไรซ์ นามา”นับเป็นอีกหนึ่งในหลายๆโครงการที่ทั่วโลก กำลังลุกขึ้นสู้กับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนอันเกิดมาจากภาวะโลกร้อน แต่กระนั้นการดำเนินการใดๆก็ตาม ต้องอยู่บนพื้นที่ไม่เพียงแต่จะไม่ให้มีกระทบต่ออาชีพ และรายได้ของเกษตรกร หากแต่ละโครงการนั้นความเป็นอยู่ของเกษตรที่ร่วมโครงการต้องดีขึ้นด้วย