3 องค์กรจับมือวิจัย-พัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยแท้ไร้สารปนเปื้อน ผลิตยาทั้ง 16 ตำรับ

  •  
  •  
  •  
  •  

3 องค์กร “องค์การเภสัชกรรม-กรมการแพทย์แผนไทยฯ-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” จับมือสร้างเครือข่าย วิจัยและพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยให้ได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด เน้นปลอดภัยไม่มีสารปนเปื้อน  นำไปใช้ในตำรับยาแพทย์แผนไทยทั้ง 16 ตำรับ เพื่อใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยให้เหมาะสมกับโรคต่อไป

           เมื่อ เวลา 15.00 น.วันที่ 13 มิถุนายน 2562  รองศาสตราจารย์สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ

            นายแพทย์มรุต  กล่าวว่า จากการความร่วมมือในครั้งนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะนำกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีโลหะหนัก ไม่มีพิษ ไม่มีสารอันตรายจากเชื้อรา ไม่มียาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา คุณภาพมาตรฐานเมดิคลัลเกรด นำไปใช้ในตำรับยาแพทย์แผนไทย   ทั้ง 16 ตำรับ เพื่อใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยให้เหมาะสมกับโรคต่อไป รวมถึงจะเป็นหน่วยงานกลาง ในการขับเคลื่อน ประสานงาน ให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง นำวัตถุดิบ จากกระบวนการปลูก การแปรรูป การสกัด เพื่อนำไปใช้ในการวิจัย การรักษาพยาบาล การจัดเก็บข้อมูลการวิจัยและการรักษาพยาบาล รวมทั้งเพิ่มช่องทางการรักษาด้วยช่องอื่นด้วย

          ด้านนายแพทย์วิฑูรย์  กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม  เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาวิธีการปลูก และวิจัยพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ  มีปริมาณสารสำคัญที่มีสัดส่วนคงที่  สม่ำเสมอ ได้มาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ จากนั้นก็จะนำกัญชาที่ได้สายพันธุ์ร่วมกันส่งต่อไปยังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำไปใช้ในตำรับแพทย์แผนไทยรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่เหมาะสมกับโรคนั้นๆ พร้อมทั้งวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรมให้ได้ผลิตภัณฑ์ใช้ในการวิจัยทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และสำหรับการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access  Scheme (SAS) เป็นการรักษาผู้ป่วยควบคู่การเก็บข้อมูลการวิจัย รวมถึงการรักษาด้วยช่องทางอื่นด้วย

         ขณะที่ รองศาสตราจารย์สิรี  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกพันธุ์พืชกัญชาในประเทศไทย ให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยไม่มีสิ่งปนเปื้อน เพื่อนำไปใช้ในตำรับยาแผนไทย รวมถึงพัฒนาพืชกัญชาสายพันธุ์ไทยให้ได้สายพันธุ์ที่ได้ปริมาณสารสำคัญที่คงที่ในการเพาะปลูก เพื่อนำไปผลิตยาและใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับโรคต่อไป  โดยในเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ปลูก  และวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร