“อ.ยักษ์”ปลุกกระแส“หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด” ที่อุทัยธานี

  •  
  •  
  •  
  •  

“อ.ยักษ์” เปิดงาน “หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด” ที่แก่นมะกรูด หวังปลุกกระแสให้ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ เพื่อช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนอาหารในระยะยาว ชี้ประเทศไทยประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินกว่า 108 ล้านไร่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราส่วนการชะล้างพังทลายดินของโลกและกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก มั่นใจนำศาสตร์พระราชา ปลุกคืนชีวิตให้พื้นที่แก่นมะกรูดได้

         นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงาน “หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด” ณ สภาตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ว่า ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยประเทศไทยพบพื้นที่ประสบปัญหากว่า 108 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 33 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราส่วนการชะล้างพังทลายดินของโลกและกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก

        ดังนั้การจัดงานวันดินโลก (World soil Day) คณะกรรมการ Global Soil Partnership และ FAO จึงกำหนดหัวข้อ “Stop Soil Erosion, Save our Future” ให้ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ เพื่อช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนอาหารในระยะยาว ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติ อาทิ การทำนาและคลองไส้ไก่ เพื่อกักเก็บน้ำและตะกอน การปลูกหญ้าแฝก ฝายชะลอน้ำ การปลูกป่า 5 ระดับ และการห่มดิน โดย World soil Day กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

          ทั้งนี้ ประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการพัฒนาดินเป็นอย่างมาก ประเทศสมาชิกสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งเอเชีย (Asian Soil Partnership หรือ ASP) จึงเสนอให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ CESRA เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล การวิจัย และนวัตกรรมด้านทรัพยากรดินของภูมิภาค ส่งเสริมงานวิจัยสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลด้านทรัพยากรดิน และประเทศไทยได้จัดตั้ง Thai Soil Partnership หรือ TSP เพื่อเป็นกลไกสำคัญเชื่อมโยงความร่วมมือไปยัง ASP และทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรดินยั่งยืน

            สำหรับพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และจังหวัดอุทัยธานี จึงจัดโครงการ “หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด”เพื่อเป็นเครือข่ายร่วมแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดินด้วยการน้อมนำความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชามาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดินของเกษตรกรตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ควบคู่กับการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ และการส่งเสริมแปรรูปสินค้าเกษตรของชุมชนเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกร

             ด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวางแผนยุทธศาสตร์และพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท บางจากฯ ได้เข้าร่วมโครงการด้านดิน เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อน เพราะดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จะก่อให้เกิดชีวิต หากดินเสื่อมภาพจะนำภัยพิบัติมาสู่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในพื้นที่นำร่องของเกษตรกร  โดยดำเนินการในลักษณะโครงการวิจัย มีการติดตามวัดผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้วางแผนกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์สำคัญ และติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องจากการหยุดชะล้างหน้าดินร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี 

         ขณะที่ นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เครื่องจักรไถพรวนหน้าดินในพื้นที่ลาดชันเพื่อทำไร่และการเผาหน้าดิน เป็นตัวเร่งการชะล้างพังทลายของดินอย่างรุนแรง ซึ่งพื้นที่แก่นมะกรูด จังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเป็นป่าต้นน้ำและป่ารอยต่อป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อพื้นที่เดิมทำการเพาะปลูกไม่ได้ ป่าก็เสี่ยงที่จะถูกบุกรุกเพิ่ม การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว จะช่วยให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองให้มีทั้งดินดี น้ำดี เพื่อคืนความอุดมสมบูณ์ให้ผืนป่า ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและโลกในระยะยาว