โดย…เกษตรทำกิน
งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ
ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
จุดกำเนิดเริ่มสมัยกรุงสุโขทัย
นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา งานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทย
ปีนี้กำหนด วันพุธที่ 8-9 พฤษภาคม 2562
ในปี 2562 นี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดให้ วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคล ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 เป็นวันประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใน ปี 2562 นี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน จะทำการคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสด ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป
สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปีจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ โสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ นาคกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ กรมวิชาการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร
ชุดสีชมพูเทพีคู่หาบทองปีนี้
ส่วนพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ นั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกันผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธีฯ ทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
เลือก 4 สายพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน
ที่มา:กรมการข้า
พันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ ซึ่งผู้คนในสนามหลวงทุกเพศทุกวัยจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคลนั้น นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2562 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธี มีทั้งหมด 4 พันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,206 กิโลกรัม ประกอบด้วย ปทุมธานี1 ขาวดอกมะลิ105 กข43 และ กข6 ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี 2562 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป
การเสี่ยงทายในพระราชพิธี ฯ แต่ละปีนั้นประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะ ตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน
การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น “วันเกษตรกร” นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา โดยในปี 2562 เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณ พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก และยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ มีดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 ราย
ขวัญชัย แตงทอง
• อาชีพทำนา ได้แก่ นายขวัญชัย แตงทอง บ้านเลขที่ ๒๕ หมู่ที่ ๙ ตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
• อาชีพทำสวน ได้แก่ นายเรือง ศรีนาราง บ้านเลขที่ ๓๔/๒ หมู่ที่ ๖ ตําบลท่ากุ่ม อําเภอเมืองตราด จังหวัดตราด
• อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายชัยยศ ตั้งนิยม บ้านเลขที่ ๑๓๗ หมู่ที่ ๑ ตําบลวังยาง อําเภอคลองขลุง จังหวัดกําแพงเพชร
• อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางสํารวย บางสร้อย บ้านเลขที่ ๔ หมู่ที่ ๑๒ ตําบลหนองแคน อําเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด
• อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางโยธกา บุญมาก บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ที่ ๙ ตําบลเพี้ยราม อําเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
• อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายชลอ เหลือบุญเลิศ บ้านเลขที่ ๑๗๗ หมู่ที่ ๘ ตําบลบ้านนา อําเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
• อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายไมตรี แย้มบางยาง บ้านเลขที่ ๑๔๙ หมู่ที่ ๑ ตําบลวัดโบสถ์ อําเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
• อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายโกศล หนูกลิ่น บ้านเลขที่ ๕/๑ หมู่ที่ ๖ ตําบลเขาถ่าน อําเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
• อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายวุฒิไกร ช่างเหล็ก บ้านเลขที่ ๒๖๗ หมู่ที่ ๕ ตําบลโพธิ์ชัย อําเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
• อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายคํานึง เจริญศิริ บ้านเลขที่ ๗๗/๒ หมู่ที่ ๑๖ ตําบลชุมแสง อําเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
• สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายภูดิศ หาญสวัสดิ์ บ้านเลขที่ ๒๓๒ หมู่ที่ ๑๑ ตําบลบ้านหัน อําเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น
• สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสุริยา หงษ์ลอยวงษ์ บ้านเลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๕ ตําบลคําน้ำสร้าง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
• สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นางอัมพร สวัสดิ์สุข บ้านเลขที่ ๓๐ หมู่ที่ ๑๕ ตําบลคลองน้อย อําเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
• ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสมเกียรติ แซ่เต็ง บ้านเลขที่ ๔๘๘/๒ หมู่ที่ ๑ ตําบลวังกระแจะ อําเภอเมืองตราด จังหวัดตราด
• สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายฉัตรชัย ดอยพนาวัลย์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๖ บ้านเลขที่ ๔๒๔ หมู่ที่ ๑๑ ตําบลน้ำดิบ อําเภอป่าซาง จังหวัดลําพูน
• สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายรัฐไท พงษ์ศักดิ์ บ้านเลขที่ ๕ หมู่ที่ ๒ ตําบลปัถวี อําเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 12 สถาบัน
• กลุ่มเกษตรกรนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาเทพนคร ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๔๐๗ หมู่ที่ ๗ ตําบลเทพนคร อําเภอเมืองกําแพงเพชร จังหวัดกําแพงเพชร
• กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทําสวนบ้านนาปรังพัฒนา ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๑๑๐ หมู่ที่ ๑ ตําบลคลองกวาง อําเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
• กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์หนองขาม ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๓๐ หมู่ที่ ๗ ตําบลหนองขาม อําเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
• กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านบ้านในถุ้ง ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๑๔๗/๕ หมู่ที่ ๕ ตําบลท่าศาลา อําเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
• กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลาสมุนไพรบ้านห้วยบง กลุ่ม ๓ ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๑๙๐ หมู่ที่ ๕ ตําบลโนนเมือง อําเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลําภู
• กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๑๓/๑ หมู่ที่ ๒ ตําบลปอแดง อําเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
• กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม ที่ทําการกลุ่ม โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม เลขที่ ๗๙ หมู่ที่ ๘ ตําบลห้วยแร้ง อําเกอเมืองตราด จังหวัดตราด
• กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๕๖/๑ หมู่ที่ ๑๔ ตําบลเขาคีริส อําเภอพรานกระต่าย จังหวัดกําแพงเพชร
• สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนา เมืองสามน้ำแพรกหนามแดง ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๔๓ หมู่ที่ ๕ ตําบลแพรกหนามแดง อําเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
• ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเขียบ ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๙๔ หมู่ที่ ๑๗ ตําบลขามเรียง อําเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
• ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนตําบลหนองฮี ทําการกลุ่ม เลขที่ ๙ หมู่ที่ ๒ ตําบลหนองฮี อําเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
• วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ ๑๐๐ หมู่ที่ ๖ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์
• สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคณทฑีพัฒนา จํากัด ที่ทําการสหกรณ์ เลขที่ ๔๖๐/๑ หมู่ที่ ๒ ตําบลคณที อําเกอเมืองกําแพงเพชร จังหวัดกําแพงเพชร
• สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมนครปฐม จํากัด ที่ทําการสหกรณ์ เลขที่ ๙๕ หมู่ที่ ๒ ตําบลห้วยขวาง อําเภอกําแพงแสน จังหวัดนครปฐม
• สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมวังไทร จํากัด ที่ทําการสหกรณ์ เลขที่ ๑๕๐ หมู่ที่ ๓ ตําบลพลงตาเอี่ยม อําเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
• สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลพัทลุง จํากัด ที่ทําการสหกรณ์ เลขที่ ๔๒๑ ตําบลคูหาสวรรค์ อําเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
• สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จํากัด ทําการสหกรณ์ เลขที่ ๔๙ ตําบลในเมือง อําเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
• สหกรณ์บริการ ได้แก่ สหกรณ์เดินรถแม่สอด จํากัด ที่ทําการสหกรณ์ เลขที่ ๘๒ หมู่ที่ ๙ ตําบลแม่ปะ อําเภอแม่สอด จังหวัดตาก
• สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จํากัด ทําการสหกรณ์ เลขที่ ๑๗๔ หมู่ที่ ๙ ตําบลหนองกะปุ อําเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ได้มีการคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2562 จำนวน 3 สาขา ได้แก่
สุริยะ ชูวงศ์
1) นายสุริยะ ชูวงศ์ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน
สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
2) นายอาทิตย์ มติธรรม เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน
สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น
3) นายแรม เชียงกา เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน
สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย
ทั้งนี้ เกษตรกร สถาบันเกษตรกรดีเด่น และปราชญ์เกษตรทั้งหมด จะเข้ารับพระราชทาน โล่รางวัลในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง