นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแผนการผลิตข้าว ปีการผลิต 2562/63 ตามความต้องการใช้ข้าว พื้นที่ 72.80 ล้านไร่ ผลผลิต 34.62 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็น การผลิตในรอบที่ 1 พื้นที่ 58.99 ล้านไร่ ผลผลิต 25.47 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 13.81 ล้านไร่ ผลผลิต 9.15 ล้านตันข้าวเปลือก
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 พื้นที่ 58.99 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ 23.03 ล้านไร่ ข้าวหอมจังหวัด 3.47 ล้านไร่ ข้าวหอมไทย 1.65 ล้านไร่ ข้าวเจ้า 14.01 ล้านไร่ (ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 13.86 ล้านไร่ และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม 0.15 ล้านไร่) ข้าวเหนียว 16.17 ล้านไร่ และข้าวตลาดเฉพาะ 0.66 ล้านไร่ โดยได้มอบหมายกรมการข้าวนำเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2562 นี้
ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าว ได้มีการวางแผนให้อุปทานสอดคล้องกับอุปสงค์มากที่สุด โดยข้อมูลที่นำมาใช้ในการวางแผนและการกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมเพาะปลูกข้าว เป็นข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งจากฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลพยากรณ์พื้นที่ปลูกข้าว ข้อมูลผลการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าว รวมทั้งข้อมูลจากการคาดการณ์พื้นที่ปลูกของแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม การวางแผนการผลิตยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ในฤดูการผลิต รอบที่ 2 หากราคาหรือปริมาณความต้องการข้าวและสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับผลการดำเนินงานภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2561/62 ที่ผ่านมา การผลิตข้าวรอบที่ 1 มีพื้นที่ปลูกข้าว 59.21 ล้านไร่ ผลผลิต 24.22 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 มีพื้นที่ปลูกข้าว 11.41 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 7.58 ล้านตันข้าวเปลือก (ณ วันที่ 23 เม.ย. 62) ซึ่งค่อนข้างเป็นไปตามแผนการผลิตที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ในปี 2561/62 ผลผลิตข้าวโลกคาดว่าจะมีประมาณ 501.57 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 6.20 ล้านตัน หรือร้อยละ 1.25 ของปี 2560/61 ซึ่งมีผลผลิต 495.37 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ อินเดีย สหรัฐ เวียดนาม และไทย มีปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มมากกขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลอินเดียได้ส่งเสริมขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น (USDA ณ เดือนมีนาคม 2562)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาข้าวของไทยมีแนวโน้มราคาทรงตัว ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเสนอราคารับซื้อสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้เกษตรกรนำข้าวที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ออกมาขาย อีกทั้งข้าวนาปรังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจึงมีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ของเกษตรกรไทยจะขายข้าวได้ราคาดี