กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งลุย 3 โครงการ ลดการเผา-แก้หมอกควัน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งลุย 3 โครงการเร่งด่วน “การดำเนินการเพื่อลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า- ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร- รวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” หวังลดการเผาและลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่การเกษตร พร้อมแนะ 8  ทางเลือกในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้การเกษตรให้เกิดมูลค่า

         นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมประเทศไทย พบว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง มีผลทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศสูงเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเร่งรัดดำเนินการเพื่อลดพื้นที่การเผาและลดปัญหาหมอกควัน ใน 3 โครงการ ดังนี้

 

      1.การดำเนินการเพื่อลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และสมาคมผู้ค้าพืชไร่ ดำเนินการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ฤดูการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2559/60 รณรงค์สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรไม่ให้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า เนื่องจากเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมาตรการของประเทศต่าง ๆ มีนโยบายไม่รับซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เลี้ยงจากอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบจากการปลูกในพื้นที่ป่า รวมทั้งได้ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และผู้ประกอบการของสมาคมในการไม่นำเมล็ดพันธุ์ไปวางขายในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า มีการสร้างระบบฐานข้อมูลเว็บ Corn Service เพื่อให้บริการแก่พ่อค้าและผู้ประกอบการที่ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สามารถเข้าใช้ข้อมูลอนไลน์ในการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร

        นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดยมีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งจากการดำเนินการมาเป็น เวลา 2 ปี ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่ามีแนวโน้มลดลง

         2.โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ 26 จังหวัด โดยในปี 2557 – 2562 ดำเนินการในพื้นที่ที่ประสบปัญหารุนแรงใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับในปี 2562 ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการเผาสูง จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และจังหวัดอุดรธานี ผลการดำเนินการ (ภาพรวมของโครงการ ตั้งแต่ปี 2557 – 2562) เกิดการสร้างวิทยากรเกษตรปลอดการเผาเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรในชุมชน จำนวน 7,710 ราย ถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร เป็นเกษตรกรปลอดการเผา 64,250 ราย ในพื้นที่รวม 1,374 ตำบล มีพื้นที่เกษตรปลอดการเผา รวม 1,374,000 ไร่ และจำนวนจุดความร้อนสะสมรวม ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 ลดลง

        สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ ในปี 2562 มีดังนี้ 1) กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่เกษตรที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการฯ ต้องควบคุมไม่ให้เกิดจุดความร้อนอย่างเด็ดขาด 2) กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาสร้างโมเดลการพยากรณ์สภาพอากาศ ล่วงหน้าทุก 7 วัน ในรูปแบบแผนที่อินโฟกราฟิก เพื่อแจ้งเตือนการหยุดเผาในไร่นาของพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสะสมฝุ่นละออง โดยออกประกาศแจ้งเตือน จำนวน 5 ฉบับ ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน 2562 3) ให้สำนักงานเกษตรทุกจังหวัด ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังการเผาซากพืช และเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : COO)

         เน้นมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุ โดยใช้ ศพก. 16 แห่งในพื้นที่ 10 จังหวัด 150 ตำบลเป็นเครือข่ายดำเนินการ โดยได้ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา จำนวน 15,720 ราย (ข้อมูลตั้งแต่ ก.พ. – เม.ย. 62) 4) เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรในช่วงวิกฤตหมอกควันภาคเหนือ ระหว่างเดือน มกราคม – ปัจจุบัน

       นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้เกษตรกรทำกิจกรรมการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยจัดทำแปลงสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาตามบริบทของชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูง เพื่อลดการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง 6) รณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ จัดงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (Field Day) จำนวน 29 ครั้ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

        3.โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พุทธศักราช 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ 882 แห่ง ร่วมกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ซึ่งมีผู้นำเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ มาดำเนินการถ่ายทอดความรู้แก่ เกษตรกร จำนวนไม่น้อยกว่า 26,460 ราย

        โดยมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุการเกษตรเหลือใช้ในไร่นา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุลระบบนิเวศในชุมชนอย่างยั่งยืน

         ส่วนทางเลือกในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้การเกษตรให้เกิดมูลค่า ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ของดิน คืนชีวิตให้ดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้รับผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น ทางเลือกที่ 2 นำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทางเลือกที่ 3 นำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเพื่อใช้เลี้ยงโค ทางเลือกที่ 4 นำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน โดยนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรืออัดก้อน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ทำอาหารในครัวเรือน

        ทางเลือกที่ 5 นำมาเพาะเห็ด นำมาผลิตกระดาษ หรือของประดับ ทางเลือกที่ 6 นำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้าแห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช เก็บรักษาความชื้น “อุ้มน้ำ อุ้มปุ๋ย” ทางเลือกที่ 7 นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูกทดแทนการเผา ซึ่งจะช่วยลดการเผา และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และทางเลือกที่ 8 จำหน่ายวัสดุเหลือใช้การเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้กากปาล์ม กากมัน ซัง ข้าวโพด เศษไม้ ขยะ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล (Biomass) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 – พฤษภาคม 2563

       ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรมั่นใจว่าจากการดำเนินกิจกรรมทั้ง 3 โครงการดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการเผาและลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่การเกษตรได้อย่างแน่นอน