สยามคูโบต้า-ก.เกษตรฯเปิดแล้ว “ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ตอน “ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน”(มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

บริษัท สยามคูโบต้าฯมือพันธมิตรสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร” เดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมชาวนาไทย ทำเกษตรปลอดการเผา เพิ่มมูลค่าฟางข้าวเหลือทิ้งให้เป็นรายได้เสริม ด้วยการไถกลบตอซัง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แปลงนา พร้อมให้ความรู้และสนับสนุนการทำนาข้าวด้วยเครื่องจักรกลแบบครบวงจร  ภายใต้โครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ตอน ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน พร้อมประกาศปฏิญญาศรีประจันต์ว่า “เกษตรกรปลอดการเผา” พร้อมกันลั่นทุ่งนา เป้าหมายอีก 3 ปี ให้เป็นเกษตรปลอดการเผา 100% หลังพบว่าเผาตอซังสูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ปีละกว่า 5 พันล้านบาท

                เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562  บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้เปิดโครงโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ตอน ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน ณ แปลงสาธิต อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ทั้งนี้เพื่อร่วมรณรงค์และส่งเสริมชาวนาไทย ทำเกษตรปลอดการเผา เพิ่มมูลค่าฟางข้าวเหลือทิ้งให้เป็นรายได้เสริม ด้วยการไถกลบตอซัง โดยมีนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และในโอกาสนี้ตัวแทนเกษตรกรจาก จ.สุพรรณบุรี และอ่างทองกว่า 500 คน ร่วมประกาศปฏิญญาศรีประจันต์ว่า “เกษตรกรปลอดการเผา” พร้อมกันลั่นทุ่งนาอีกด้วย

                                                            สุพัฒน์ เอี้ยวฉาย กล่าวเปิดงาน

        นายสุพัฒน์ กล่าวว่า มลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่งกว่า 50% โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน สถานการณ์จะหนักในช่วงพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม ส่วนในภาคกลางมักจะได้รับผลกระทบจากการเผาตอซังในนาข้าว เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าวในเขตชลประทานที่ทำนาปีละ 2 ครั้ง ซึ่งปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อลดปัญหาการเผาจากภาคการเกษตร จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การดำเนินการควบคุมการเผาตอซังข้าวในพื้นที่เกษตรกรรมและควบคุมการเผาในที่โล่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาให้ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในชุมชนให้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ทดแทนการเผา

       ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร ได้รับความร่วมมือจากบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ขึ้น เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยทำการเกษตรแบบไม่เผา ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างครบวงจรในพืชที่กระทรวงดูแลรับผิดชอบอยู่ ได้แก่ ข้าวและข้าวโพด โดยตั้งเป้าพื้นที่เกษตรของไทยกว่า 140 ล้านไร่ให้เป็นเกษตรปลอดการเผา 100% ภายใน 3 ปี

         ด้านนายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวปีละประมาณ 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.40 ของพื้นที่ทำการเกษตร ในแต่ละปีมีฟางข้าวเหลือทิ้งในนาเฉลี่ย 27 ล้านตัน และมีตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าวประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งฟางข้าวและตอซังข้าวเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีปริมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับตอซังพืชอื่น โดยในพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ มีปริมาณฟางข้าวและตอซัง โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม นับเป็นปัจจัยหลักที่เกษตรกรส่วนมากนิยมเผาตอซังข้าวเพื่อให้เกิดความสะดวกในการไถเตรียมดิน ง่ายต่อการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช

         วิธีดังกล่าวจะทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนไป สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทต่อปี แต่หากเปลี่ยนเป็นวิธีไถกลบตอซังข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ จะเป็นการเพิ่มธาตุอาหารหลักลงในดิน   ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม คิดเป็นมูลค่า 900 บาท/ไร่ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้  อีกทั้งทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ การเผาตอซังพืชทำให้ผิวดินมีอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซลเซียส ทำให้สูญเสียน้ำในดิน ส่งผลให้ความชื้นในดินลดลง

         ดังนั้นกรมการข้าวได้จัดโครงการรณรงค์งดเผาฟางและไถกลบตอซังพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาฟาง ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการไถกลบตอซังพืชที่สามารถช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ง่ายต่อการเตรียมดิน เพิ่มธาตุอาหารทางเคมีตรงตามที่พืชต้องการ ต้านทานความเป็นกรด-ด่าง และยังช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน

         อีกทั้งนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น คลุมดินทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง หรืออัดฟางก้อนไปขายเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโค นอกจากนี้สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว เพื่อสร้างรายได้เสริมทดแทนการเผาอีกด้วย  สำหรับโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ตอน ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน จะเป็นการเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวนาในการเก็บเกี่ยวข้าวหลังฤดูกาลเพาะปลูก ร่วมถึงการทำเกษตรปลอดการเผาด้วยการไถกลบตอซัง และนำฟางข้าวที่เหลือทิ้งมาอัดเป็นฟางก้อนเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะเน้นในพื้นที่เกษตรที่มีการเผาสูง หรือจุด Hotspot  10 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อยับยั้งการเกิดจุดความร้อนเพิ่มขึ้น และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอากาศ

         ขณะที่นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงที่มาของโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาในภาคการเกษตรอย่างเร่งด่วน จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ขึ้น

       ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบไม่เผา ในพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพด พร้อมลงพื้นที่สนับสนุนการทำเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร และให้ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของอินทรียวัตถุ การรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วน 3 ปีหลังจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เกษตรปลอดการเผา 100% 

        สำหรับโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา จะเริ่มรณรงค์จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้ชื่อ ตอน“ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน” ซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เศษวัสดุเหลือใช้จากนาข้าวทั้งฟางข้าวและตอซังข้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาเป็นอย่างมาก หากเกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้งานอย่างครบวงจร ในส่วนของฟางข้าว เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าของฟางข้าวได้ด้วยการอัดฟางข้าว จากเครื่องอัดฟางคูโบต้า รุ่น HB135 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ใช้ในการอัดฟาง ทำให้ได้ก้อนฟางที่แน่น ตรงสวย ลดการหลุดร่วงและการสูญเสียฟางข้าว ซึ่งสามารถอัดฟางได้วันละ 40-50 ไร่ (เฉลี่ย 20-25 ก้อนต่อไร่) ได้ก้อนฟางสูงถึง 1,250 ก้อนต่อวัน ซึ่งรายได้จากการรับจ้างอัดฟางจะมีมูลค่าอยู่ที่ 13 บาทต่อก้อน โดยก้อนฟางเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ อาทิ โคนม โคเนื้อ สัตว์เคี้ยวเอื้องเพื่อการพาณิชย์ ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนสำหรับฟาร์มโคเนื้อ ตลอดจนสร้างรายได้เสริมด้วยการใช้เครื่องอัดฟางอีกด้วย

          นอกจากนี้หากมีการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ที่ผ่านกรรมวิธีการหมักผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2  ซึ่งเป็นสารจุลินทรีย์ที่ผลิตโดยกรมพัฒนาที่ดิน มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูงเพื่อผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ  ด้วยเครื่องพ่นอเนกประสงค์ ตราช้าง รุ่น BS350 ที่มีคุณสมบัติฉีดละอองละเอียดถึง 70 ไมครอน กระจายตัวแทรกซึมทั่วพื้นที่ สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง สามารถเปลี่ยนหัวฉีดได้หลากหลายให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิด ระบบหมุนวนภายในถังทำให้สารที่ต้องการฉีดพ่นไม่ตกตะกอน ได้คุณภาพคงที่ หรือจะเป็นนวัตกรรมใหม่

        

       โดรนเพื่อการเกษตร รุ่น MG1-K ซึ่งจะฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพก่อนการไถกลบตอซัง เพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช สุดท้ายเป็นการไถกลบตอซังข้าว ด้วยผานพรวน ตราช้างรุ่น DH245-6F-HP ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับไถกลบเศษตอซัง ที่ถูกออกแบบให้เป็นกระทู้แยกสำหรับใบจานแต่ละใบ ทำให้ใช้งานได้เอนกประสงค์ สามารถไถพรวนดินได้ลึก ละเอียด ตลอดจนกลบหรือสาดดินได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาฟางหมุน ปรับตั้งได้ตามความเหมาะสมในการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยทำให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ดินมีการระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ง่ายต่อการเตรียมดินในการเพาะปลูกครั้งต่อไป ด้วยวิธีการใช้รถดำนาและรถหยอดข้าว ทดแทนการทำนาหว่าน ในโครงการ Zero Broadcast เพื่อส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวคุณภาพสูง ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า