สภาเกษตรกรบุกถึงถิ่นกำเนิดกัฐชาดีที่สุดของโลก ขับเคลื่อน “การพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ที่สกลนคร “ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์” ชี้แนวทางการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดขอบเขตการปลูกและใช้ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสภาเกษตรกรฯ ที่ต้องการให้ปลูกและใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์กับเกษตรกรได้เข้าถึงการรักษาโรคแบบพึ่งตนเองด้วยพืชสมุนไพร และเป็นการกระจายรายได้ใรระดับหมู่บ้าน
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้จัดประชุมสัมมนาภายใต้ขับเคลื่อนโครงการ”ขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ครั้งที่ 2 ถึงถิ่นกำเนิดกัญชาดีที่สุดของโลก ณ โรงแรมพี.ซี.พาเลซ จังหวัดสกลนคร หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขึ้นที่ จ.ลำปางเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะไปยังภูมิภาคอื่นทั่วประเทศ
นายอภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการเปิดงานโครงการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ณ โรงแรมพี.ซี.พาเลซ จังหวัดสกลนคร ว่า กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณ มีการนำมาใช้จนเป็นตำรับยาพื้นบ้าน ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย กว่าสี่สิบปีที่ผ่านมาหลังจากมีการใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 การใช้ประโยชนจากกัญชาได้ถูกควบคุม ให้เป็นยาเสพติด
การใช้ประโยชน์ทางคุณค่าของสมุนไพรจึงน้อยลง แต่ยังคงถูกใช้ในตำราของชาวบ้านเพื่อการพึ่งพาตนเอง ในพื้นที่เทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ที่เป็นแหล่งกำเนิดกัญชาพื้นบ้าน เช่น พันธุ์หางกระรอก พันธุ์ฝอยทอง พันธุ์หางเสือ โดยเฉพาะพันธุ์หางกระรอก ได้มีการนำไปใช้กระจายไปทั่วโลกจนยอมรับว่าเป็นแหล่งผลิตที่ดีที่สุดในโลก ทั้งนี้ ในช่วงแรกเรื่องกลไกของกฎหมายประชาชนมักสับสน ไม่อยากให้หลงประเด็น และเข้าสู่วังวนของการทำผิดกฎหมาย
ดังนั้นในการจัดโครงการขับเคลื่อนการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่สภาเกษตรกรฯจัดขึ้น หากมีข้อสงสัย คลางแคลงในกฎหมาย ขั้นตอน วิธีการ ในการใช้กัญชาเพื่อเป็นยารักษาโรค ให้สอบถามกับวิทยากรที่นำความรู้มากมายมาถ่ายทอดหรือสอบถามไปยังสภาเกษตรกรจังหวัดแต่ละจังหวัดซึ่งพร้อมเป็นพี่เลี้ยงและพร้อมบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ท่าน
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า แนวทางการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดขอบเขตการปลูกและใช้เพื่อการสาธารณสุขสมัยใหม่ เพื่อใช้กัญชานำไปสกัดเป็นยาเพื่อการแพทย์และการวิจัย และระบบการผลิตเพื่อสกัดสารเป็นยา ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ต้องการให้ปลูกและใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์กับเกษตรกรได้เข้าถึงการรักษาโรคแบบพึ่งตนเองโดยใช้เป็นพืชสมุนไพร และเป็นการกระจายรายได้รวมทั้งเป็นการรักษาสายพันธุ์กัญชาพื้นเมืองไว้กับกลุ่มเกษตรกร ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายและระยะเวลา 90 วันหลังประกาศ พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7/2562 เพื่อให้การดำเนินการในการเสนอโครงการและขอใบอนุญาตการปลูกกัญชา ให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลา ซี่งในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นี้ จะให้ความกระจ่างในเรื่อง “สายพันธุ์และการเพาะปลูก , การผลิตยาและการรักษาโรค , ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง/การขึ้นทะเบียนตามบทเฉพาะกาล เป็นต้น
“ กัญชาไม่ว่าจะเป็นหมอพื้นบ้าน ผู้มีประสบการณ์ ผู้ป่วย ที่ผ่านมาล้วนมีการใช้ประสบการณ์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นขอให้นำสิ่งเหล่านั้นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่ออนาคตต่อไป” เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว