“อ.ยักษ์”มันใจ มทร.ร้อยเอ็ดเป็นศูนย์วิจัยดินที่คนทั่วโลกต้องมาเรียนรู้

  •  
  •  
  •  
  •  

“อ.ยักษ์”ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยศาสตร์พระราชา ชี้อนาคตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้ จะเป็นศูนย์วิจัยดินที่คนทั่วโลกสามารถเข้ามาเรียนรู้แนวทางการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้งให้อุดมสมบูรณ์ได้

            นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยศาสตร์พระราชา” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อตรวจเยี่ยมการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ และพบปะเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด มีความแห้งแล้ง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้  ได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งให้แก่เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งนี้ โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้กว่า 1,700 ไร่ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชากว่า 40 ทฤษฎี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาสืบสานและถ่ายทอดให้กับเกษตรกรได้เรียนรู้ ฝึกฝน และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับอาชีพเกษตรกรรม และเพิ่มรายได้ 

          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานฯ ได้พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในด้านต่างๆ  อาทิ พัฒนาแปลงสาธิต “นวัตวิถี โคกหนองนา ทุ่งกุลาโมเดล” การสร้างสระน้ำในโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย หรือน้ำไม่มีคุณภาพ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ การสร้างระบบบำบัดน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการบำบัดน้ำเสียจากการเกษตรและครัวเรือน ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำโดยใช้วิธีทางชีวภาพ การพัฒนาแปลงเกษตรอัจฉริยะ และสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ เป็นต้น ซึ่งต่อไปในอนาคตมหาวิทยาลัยดังกล่าวจะเป็นศูนย์วิจัยดินที่คนทั่วโลกสามารถเข้ามาเรียนรู้แนวทางการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้งให้อุดมสมบูรณ์ได้

           หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่าง โคก หนอง นา โมเดล ณ เทศบาลตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวให้เป็นการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ตลอดทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย