ดลมนัส กาเจ
“หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ….ผ่านไป จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อวงการข้าวไทย โดยเฉพาะการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าว “
ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัดการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … ตามกำหนเดิมจะมีการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ปรากฏว่า หลังจากที่ประชุม สนช. มีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผังเมือง พ.ศ. … ในวาระสอง และวาระสาม เสร็จสิ้น ซึ่งตามระเบียบวาระการประชุมจะต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. ต่อ แต่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมสนช.ขณะนั้น สั่งปิดการประชุมในเวลา 14.30 น.
พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าวพ.ศ. … ได้แถลงในเวลาต่อมาว่า เหตุที่มีการเลื่อนวาระการประชุม ร่างพ.ร.บ.ข้าว ว่า เลื่อนออกไปเป็นประชุมในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เนื่องเพราะ กมธ.เห็นพ้องว่า จะนำข้อเรียกร้อง และคัดค้าน จากฝ่ายต่างๆ กลับไปทบทวนอีกครั้ง เช่น การซื้อขายข้าวตามวิถีชุมชน เป็นต้น โดยในที่ประชุมนายพรเพชร ขอให้ กมธ.นำร่างพ.ร.บ.ข้าว ไปทบทวนเนื้อหาตามประเด็นที่มีเครือข่ายชาวนายื่นหนังสือท้วงติง และเสนอความคิดเห็นขัดแย้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และทำร่างกฏหมายที่เป็นประโยชน์กับชาวนาทุกลุ่ม
ภาพจาก: thaipublica.org
ล่าสุดวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณี สนช. เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว ออกไปเป็นวันที่ 26 กุภาพันธ์ 2562 นั้น ตนไม่ทราบว่าจะเลื่อนไปพิจารณาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ส่วนที่มีคำถามว่า จะนำไปพิจารณาในรัฐบาลชุดหน้าหรือ นายวิษณุ บอกว่า ไม่ทราบและ ไม่รู้เช่นกัน เพราะไม่ใช่ร่างที่รัฐบาลเสนอ และเรื่องนี้ไม่มีข้อกำหนดเวลาด้วย หากพิจารณาเสร็จก็เสร็จไป แต่ถ้าไม่เสร็จก็ทิ้งไว้ให้รัฐบาลชุดหน้าพิจารณากันต่อ เพราะ สนช.มีอำนาจที่จะพิจารณากฎหมายได้ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2562 นี้เท่านั้น หากทิ้งกฎหมายไว้ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายตกไป เพราะรัฐบาลชุดหน้าก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นมาพิจารณาต่อต้องภายใน 60 วัน
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การที่จะให้รัฐบาลหน้าพิจารณานั้น สามารถทำได้ ไม่เป็นการโยนเผือกร้อนไปให้รัฐบาลหน้า เพราะรัฐบาลหน้าบอกว่าไม่เอาก็จบ หมดเรื่อง
“เผือกร้อนอะไร มีรัฐบาล มีนายกฯ เขามีสิทธิที่จะเลือกว่าจะไม่ทำก็ได้ เพราะโดยมากกฎหมายที่ค้างอยู่ทั้งหมดจะตกหมด เขาให้ยกเว้นว่าเว้นแต่รัฐบาลจะขอภายใน 60 วัน ให้ยกขึ้นมาพิจารณาต่อ “ รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ สนช.เลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ…..ในครั้งนี้ เนื่องจากมีกลุ่มต่างๆคัดค้านจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ร่างแรกที่นำเข้าสู่ สนช. ไปเน้นเรื่องให้อำนาจแก่กรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว เสมือนหนึ่งประเทศไทยยังอยู่ในยุคด้อยพัฒา หรือภาวะสงคราม รวมทั้งการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กรมการข้าว ทั้งๆที่อำนาจหน้าที่เหล่านั้นมีหน่วยราชการอื่นดูแลรับผิดชอบตามกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งที่ความจริงเหตุผลของการตรากฎหมายข้าวเป็นเหตุผลที่ดี
กล่าวคือ ผู้ร่างต้องการแก้ปัญหาอาชีพชาวนาที่เสี่ยงขาดทุนสูง คนรุ่นใหม่ไม่มีแรงจูงใจจะทำนา ร่างกฎหมายข้าวต้องการให้มีนโยบายข้าว และสถาบันที่สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิต (และจำหน่าย) ตลอดห่วงโซ่การผลิตเกิดการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง ยั่งยืน อย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตัดมาตราเหล่านั้นออกหลายมาตรา ทำให้ในร่างแรกที่นำเข้าสู่ สนช. ที่ผ่านวาระ 1 เมื่อ 30 มกราคม 2562 กลับเน้นเรื่องให้อำนาจแก่กรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว รวมทั้งแก้ไขความขัดแย้งระหว่างหน่วยราชการ เรื่อง การกำหนดให้กระทรวงเกษตรฯ(โดยกรมการข้าว) เป็นเลขานุการคนที่หนึ่งของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวด้วย
ที่สำคัญยิ่ง ยังมีมาตราสำคัญบางมาตราที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย อีกทั้งยังไม่มีมาตราชัดเจนเรื่องการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง และการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าว หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายดังกล่าว จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อวงการข้าวไทย โดยเฉพาะการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าว
ในบทความของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร แห่งที่ดีอาร์ไอ ลงในเว็ปไซค์ “เกษตรทำกิน” ระบุว่า ที่เห็นชัดเจน และเป็นประเด็นสำคัญที่สุด คือมีการแก้ไข มาตรา 27/1 วรรค 3 เรื่องการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวจะจำหน่ายได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าว รับรองแล้วเท่านั้น แม้จะมีข้อยกเว้นให้ชาวนาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้แก่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าว แต่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวไม่สามารถนำไปขายต่อได้….หากผู้รวบรวมนำไปขายต่อก็ติดคุก…..และทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ การซื้อขายเมล็ดพันธุ์และข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่จะผิดกฎหมายทันที เพราะกรมการข้าวยังไม่ได้รับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่
ด้วยนี้ทางสมาคมด้านข้าว 4 สมาคม และสถาบันด้านวิชาการ 2 สถาบัน มีการจัดสัมมนาขึ้นมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อแถลงข้อเท็จจริงและผลกระทบด้านต่างๆ ให้สังคมได้รับทราบและมีส่วนร่วมแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติม และเป็นครั้งแรกที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าว สมาคมโรงสี และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมารวมตัวกันได้ เพราะมีความเห็นตรงกันเรื่องความเสียหายที่จะเกิดจากมาตราบางมาตรา ปรกติสมาคมทั้งสี่ (และสมาคมชาวนาอีกสี่สมาคม) มักจะมีความเห็นขัดแย้งกัน
นี่ยอมให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ข้าว พ.ศ…..ที่ผ่านวาระที่ 1 ไปแล้วนั้น หลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อผ่านแล้วทำให้อาชีพการทำนาจะถอยลงคลอง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการค้าขายของประชาชนอย่างร้ายแรง ที่เกิดจากคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน จึงไม่มีความเข้าใจเรื่องการพัฒนาคุณภาพพันธุ์ข้าวไทย
ทว่า คณะกรรมาธิการฯ กลับเข้าใจว่า”พันธุ์ข้าวส่วนใหญ่ในตลาด”ไม่มีคุณภาพ หากสามารถจำกัดการค้าขายเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวรับรองชาวนาจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพไปปลูกนั่นเอง จนกลายเป็นปมร้อนที่หลายฝ่ายลุกขึ้นมาคัดคัดค้าน พร้อมๆกับการเสนอแนะให้มีการแก้ไข และพิจารณาใหม่ ดังกล่าว ส่วนจะพิจารณาทันหรือไม่ อย่างไร หรือปัดภาระให้รัฐบาลชุดใหม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป