“อ.ยักษ์” เดินสายลงพื้นที่ลุยเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่อง

  •  
  •  
  •  
  •  

“อ.ยักษ์” เดินสายลงพื้นที่ ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่อง ล่าสุดดันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (อินทรีย์) จ.ศรีสะเกษ เชื่อมโยงอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล โรงเรียน และแหล่งท่องเที่ยว พร้อมรับปากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่เกษตรกรเสนอขอมา

            นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการดำเนินการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (อินทรีย์) ตำบล ดู่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่

 

           กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง เป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นตัวอย่างด้านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐาน โดยมีนายบุญมี สุระโคตร เป็นประธานกลุ่มฯ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาตั้งแต่ ปี 2547 มีสมาชิกกว่า 1,200 ราย ที่รวมตัวกันผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล ภายใต้แนวทางการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน โดยเน้นการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและการแปรรูป ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เกิดการจ้างงานและมีรายได้เพิ่มจากอาชีพหลัก เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของทุกคนในชุมชน 

            ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนดังกล่าว ได้มีการดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ ได้แก่ (1) การแปรรูปข้าวอินทรีย์ โดยส่งเสริมให้สมาชิกเกษตรกรปลูกข้าวปลอดสารพิษ/ข้าวอินทรีย์ และขอตรวจรับรองในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ทั้ง IFAOM , EU , NOP และมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรม (Fairtrade) (2) การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน รักษาสิ่งแวดล้อม (3)การทำนาข้าวขาวดอกมะลิ  105  อินทรีย์ โดยส่งเสริมให้มีการทำนาหลากหลายวิธี ทั้งการทำนาดำ การทำนาหว่าน การทำนาโยน การดำนาโดยเครื่องจักร การทำนาหยอดโดยเครื่องจักร เพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการทำนาและเก็บข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร และ (4)ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งชึ้น เช่น ถั่วเหลือง ปลูกถั่วพุ่ม ถั่วพล้า และปอเทือง  

           ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 22,000 ไร่ และมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 30,000 ไร่ภายในปีหน้า และจะขยายเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆไป เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายพื้นที่รวมเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัด 250,000 ไร่ ภายในปี 2564 และแนวทางการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนที่ขับเคลื่อนด้านเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องแล้ว เชื่อว่าจังหวัดศรีสะเกษจะสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้

         ย่างไรก็ตามทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ยังมีความต้องการให้กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนในด้านต่างๆ อาทิ 1.ด้านการตลาด ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันบูรณาการส่งเสริมให้โรงพยาบาล โรงเรียนทุกแห่ง และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้คนไข้ แม่และเด็ก นักเรียน และนักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยและปลอดโรค 2.ส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษาด้านเงินทุน 3.ส่งเสริมด้านการผลิตและแปรรูป โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคเอกชน และ 4.พัฒนาแหล่งน้ำ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกขุดบ่อน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มรายได้ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ไปปรับแผนโครงการให้เหมาะสมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรต่อไป