ศาสตร์พระราชา ร.9 ต้นแบบจัดการน้ำ สทนช.“…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้…ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”
ไม่เพียงทรงเข้าใจปัญหา ทรงเข้าถึงทั้งพื้นที่และความรู้สึกนึกคิดของราษฎรอย่างถ่องแท้ การพัฒนาแหล่งน้ำเริ่มที่ปัญหาของราษฎร ทรงเสาะหาข้อมูลจากราษฎรเองเทียบเคียงกับข้อมูลจากส่วนราชการ และในการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละประเภท แต่ละขนาด ทรงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ขนาดของแหล่งน้ำต้องเหมาะสมกับความต้องการใช้ ไม่ใหญ่โตเกินความจำเป็น เพราะจะใช้งบประมาณมาก หรือเล็กเกินไปจะใช้งานไม่คุ้มค่า
ทรงใช้วิธีรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน ฟังปัญหาความต้องการ จนตกผลึกเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อที่ดินทำกินของราษฎร รวมทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม…ไม่ต่างไปจากการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในยุคปัจจุบันแม้แต่น้อย
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อให้เป็นหน่วยงานระดับนโยบายด้านน้ำของประเทศ…ทิศทางการดำเนินงานนั้น รัฐบาลได้มอบนโยบายให้ สทนช.นำศาสตร์พระราชา พร้อมทั้งยึดโยง
กับแนวทางพระราชดำริ ในเรื่องการบูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำร่วมกันมาใช้ เหมือนกรณีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใช้เวลาแค่ 5 ปี (2537-2542) ก็แล้วเสร็จ
“การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานด้วยกัน แทนที่จะเป็นเพียงหน่วยงานเดียวอย่างที่เคยทำมา รวมทั้งยังให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานอีกด้วย ทำให้ขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถกักเก็บน้ำ และหน่วงน้ำช่วยลดปัญหาอุทกภัยท่วมกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ภายใต้บริบทใหม่ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การน้อมนำยึดเอาแนวทางพระราชดำริและศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางขับเคลื่อนนั้น จะทำให้การปฏิรูปทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถแก้ปัญหาน้ำให้กับประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง.
ที่มา : ไทยรัฐ …1390096โดย.. ชาติชาย ศิริพัฒน์ ..อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/