พีช+สาลี่..โครงการหลวง ไม้ผลเมืองหนาวจากไทยไปยุโรป?

  •  
  •  
  •  
  •  

พูดถึงไม้ผลเมืองหนาว…คนไทยมักจะให้ค่า ให้ราคาผลไม้จากต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเชื่อว่าบ้านเราปลูกได้ไม่ดี อากาศไม่เหมาะสม คุณภาพสู้ผลไม้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้ แต่วันนี้กลับตาลปัตร…เชื่อหรือไม่ว่า พีช และสาลี่ ที่ปลูกในไทย เป็นที่ต้องการของตลาดยุโรปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรัสเซีย มีการส่งออกไปมานานถึง 3 ปีแล้ว อย่างน้อยปีละ 3,000 กก

“พีช ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อลูกท้อ มีการนำต้นพันธุ์จากต่างประเทศ มีปลูกในพื้นที่โครงการหลวงที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มาตั้งแต่ปี 2512 เป็นพันธุ์ Earli  Grande แต่ผลผลิตที่ได้ต่ำ ผลเล็ก ไม่ทนทานต่อการขนส่ง ต่อมาเลยเปลี่ยนมาส่งเสริมปลูกพันธุ์ Tropic Beauty และพันธุ์ Jade ถึงจะได้ผลค่อนข้างใหญ่เนื้อสีเหลืองสวย รสหวานอมเปรี้ยว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องช้ำ เน่าเสียง่าย ระหว่างขนส่ง…

…ทางโครงการหลวงจึงศึกษาวิจัยมาเรื่อย จนได้พันธุ์ลูกผสม และหลังจากจับมือกับไต้หวัน นำพีชไต้หวันมาปรับพันธุ์ จนได้พันธุ์ลูกผสม อำพัน, อ่างขาง 1-2-3 และ4 พร้อมพัฒนาวิธีการปลูกและดูแลรักษา กางมุ้งให้กับแปลงพีชเพื่อป้องกันลูกเห็บตก ป้องกันแมลงวันทองเจาะผล เพื่อให้พีชมีผิวสวยน่ารับประทาน และทนต่อการขนส่ง

นายณัฐทวี มาบางครุ นักวิชาการไม้ผล สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง บอกว่า เป้าหมายของการปรับปรุงพันธุ์นั้น ต้องการแค่เจาะตลาดเมืองไทยให้คนไทยยอมรับในผลไม้เมืองหนาวของบ้านตัวเองเท่านั้น


แต่บังเอิญ…ผลผลิตที่ออกมา เมื่อนำไปออกร้านในงานแสดงสินค้าแถบยุโรป พันธุ์ อำพัน กับ อ่างขาง 2 เป็นที่ต้องตานักธุรกิจนำเข้าผลไม้ยุโรป ได้ติดต่อขอสั่งซื้อพืชจากไทย
เพราะสี รสชาติ ขนาดของผล ตรงรสนิยมการบริโภคของชาวยุโรป ที่สำคัญระยะการเก็บเกี่ยวให้ผลไม่มีตรงกับยุโรป พีชบ้านเราเก็บเกี่ยวในเดือน เม.ย.–มิ.ย. ในขณะที่ยุโรปไม่มีพีชออกมาขาย เพราะเป็นช่วงเพิ่งออกดอก เลยเป็นช่องทางให้พีชบ้านเราเข้าไปเจาะตลาดยุโรปได้

สาลี่ก็เช่นกัน…ปลูกในบ้านมาตั้งแต่ปี 2508 และมีพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มาเรื่อย จนได้พันธุ์ที่เหมาะกับเมืองไทย เป็นพันธุ์ “สาลี่ทอง” ที่เหลืองอร่ามเหมือนทอง

นายวิรัก จำปา นักวิชาการไม้ผล โครงการหลวง บอกว่า การปรับปรุงพันธุ์สาลี่ทองเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี น้ำหนักเฉลี่ยผลละ 250-300 กรัม เนื้อผลละเอียดไม่มีลักษณะเป็นทราย รสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นหอม และมุ่งหวังเจาะตลาดในประเทศทดแทนการเข้าเท่านั้นเอง

“แต่บังเอิญระยะเก็บ สาลี่ทองให้ผลผลิต ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. สาลี่ในท้องตลาดทั้งจีนและไต้หวัน ไม่มีผลผลิตออกมา สาลี่ไทยเลยออกไปขายได้ในต่างประเทศ เคียงคู่ไปกับพืช

 

 

ที่มา  :  ไทยรัฐ  : โดย…ไชยรัตน์ ส้มฉุน อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1343802