บึงบอระเพ็ด…บึงน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ 132,737 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นครสวรรค์ อ.เมือง, ท่าตะโก และชุมแสง ของจังหวัดนครสวรรค์ สภาพดั้งเดิม (พ.ศ.2480) มีศักยภาพเก็บกักน้ำได้ 320 ล้าน ลบ.ม.
แต่ปัจจุบันพื้นที่หดเหลืออยู่แค่เพียง 39,050 ไร่เก็บกักน้ำได้แค่ 78.76 ล้าน ลบ.ม. ด้วยถูกราษฎร 6,500 ครัวเรือนบุกรุกยึดครองเป็นที่ทำกิน จนเกิดเป็นหมู่บ้านมากถึง 33 หมู่บ้าน…ทั้งที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำมาตั้งแต่ปี 2470
ประกอบกับบึงบอระเพ็ดมีปัญหาธรรมชาติ ทุกฤดูน้ำหลากจะมีดินตะกอนไหลมานอนก้นอยู่ในบึงปีละ 2 ล้านคิว ในขณะการขุดลอกของหน่วยงานที่รับผิดชอบทำได้แค่ปีละ 5แสนคิว… เลยเกิดการตื้นเขินที่เอื้อให้บุกรุกได้ง่ายและรวดเร็ว
เพื่อกอบกู้บึงบอระเพ็ดให้เป็นแก้มลิงในฤดูน้ำหลากได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ดำเนินการบูรณาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด…ให้มีศักยภาพเก็บกักน้ำที่ไหลผ่านบึงปีละ 700–1,000 ล้าน ลบ.ม.ได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้าน ลบ.ม
การจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว สนทช. จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ “ที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันในด้านผลประโยชน์ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและฟื้นฟูบึงเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับและไว้ใจว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในบึง ให้เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มต่างๆเพื่อลดความขัดแย้ง และร่วมกันแสวงหาทาง ออกจากปัญหาอย่างเหมาะสม ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในกันยายน 2561 นี้”
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าวถึงปัญหาหลักที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้บึงบอระเพ็ดเสื่อมโทรม เนื่องจากพื้นที่บึงแห่งนี้มีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายหลายกิจกรรมหลายหน่วยงาน…ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมดูแลโดยกรมธนารักษ์ พื้นที่เขตอนุรักษ์ดูแลโดยกรมประมง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่การท่องเที่ยวดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
หากทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันยึดมั่นในเป้าหมายคิดทำเพื่อส่วนรวม…ปัญหาบึงบอระเพ็ดที่ยากจะเยียวยา จะสามารถคืนกลับมาสวยงามเคียงคู่นครสวรรค์ และประเทศไทยได้ไม่ยาก.
ที่มา : ไทยรัฐ : โดย…ชาติชาย ศิริพัฒน์ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1324117