ดันบ้านตาแป๊ะโมเดลปลูกไผ่สร้างป่าสร้างอาชีพ“คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้”

  •  
  •  
  •  
  •  

ทรวงทรัพย์ฯรับลูก ข้อเสนอของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้เกษตรกรที่ทำกินในเขตป่าสงวนสามารถทำกินได้ต่อ ในรูปแบบชุมชนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ชูบ้านไผ่แพะ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ปลูก“ไผ่” เป็นพืชสร้างป่า สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านทำกินได้ยันถึงลูกหลาน

          นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ข้อมูลส่วนหนึ่งจากนายสมบัติ อ่อนหวาน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านไผ่แพะ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ว่าในพื้นที่หมู่ 5 เมืองมาย ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม ส่วนใหญ่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนของกรมป่าไม้ เดิมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวไร่สลับถั่วลิสงและข้าวโพดเป็นหลัก ในที่ดินทำกินและอยู่อาศัยไม่มีเอกสารสิทธิ์ เมื่อภาครัฐเข้าขอคืนพื้นที่ป่าจึงเกิดความเดือดร้อน จึงนำเรื่องนี้หารือร่วมกันกับพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสตรวจติดตามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าของจังหวัดลำปาง ณ หมู่บ้านไผ่แพะ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม พบพื้นที่ อ.แจ้ห่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเขา ชาวบ้านส่วนมากยังชีพด้วยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง

[adrotate banner=”3″]

          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการบุกรุกพื้นที่ป่านำมาเป็นพื้นที่ทำกิน ซึ่งทางพล.อ.สุรศักดิ์เข้าใจปัญหาและเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยร่วมกับคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติว่าน่าจะมีมาตรการในการผ่อนปรน แล้วก็มีมาตรการรองรับในเรื่องของเกษตรกรที่ยังชีพทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ของรัฐทั้งหลาย  ทางสภาเกษตรแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะดูแลรักษาพื้นที่ป่า ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับฟื้นคืนสภาพมีความอุดมสมบูรณ์และให้เกษตรกรชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการมีป่า ทางสภาเกษตรกรฯได้เสนอแนวทางนำ “ไผ่” มาปลูกทดแทนหรือร่วมในพื้นที่ทำการเกษตร

          เนื่องจาก ไผ่ เป็นพืชโตเร็ว ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง เป็นพืชสารพัดประโยชน์นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากมาย ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่เป็นภาระของรัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญมากเพราะในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์กระทรวงทรัพย์ฯเป็นผู้ดูแลโดยกฎหมาย หากกระทรวงทรัพย์ฯเข้ามาปรับแก้ในเรื่องกฎหมายให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างป่ากับคน ส่งเสริมให้มีการลงทุนต่อยอดการปลูกไผ่ของพี่น้องเกษตรกรเชื่อมั่นได้ว่าจะเกิดนิมิตหมายใหม่ของระบบเศรษฐกิจประเทศไทยโดยเฉพาะเศรษฐกิจในระดับฐานราก

          ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ควบคุมดูแลเรื่องการใช้พื้นที่ป่าให้ถูกกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมนั้นได้เน้นการจับกุมผู้กระทำผิดบุกรุกทำลายป่าจึงทำให้เกิดคดีขึ้นมากมาย รัฐบาลมีแนวทางในการที่จะอนุญาตให้ประชาชนได้มีพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตที่ดินของรัฐหรือพื้นที่ป่าอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลจะมีการบริหารจัดการให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสันติ  

          ส่วนข้อเสนอของสภาเกษตรกรฯที่ส่งเสริมให้มีการปลูกไผ่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยินดีสนับสนุนเพราะไผ่สามารถปลูกได้ในทุกสภาพ ช่วยในการอุ้มน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นดินลงทุนครั้งเดียวตัดได้หลายปี ส่วนด้านตลาดรองรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องหารือกับประชาชน สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อส่งเสริมอาชีพ กระทรวงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมการตลาดมากขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับการเกษตรต่อยอดเรื่องการส่งออกก็จะครบวงจร 

           “ ในที่ดินของรัฐอนุญาติให้ประชาชนอยู่ทำกินได้เป็นมรดกลูกหลานต่อไป แต่ไม่ได้ให้สิทธิ์เป็นบุคคล กระทรวงทรัพย์ฯอนุญาตเป็นแปลงรวมไม่มีกรรมสิทธิ์แต่อยู่สืบทอดได้ โดยกระทรวงทรัพย์พยายามเร่งเรื่องขอบเขตของพื้นที่ให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าเขาได้รับอนุญาตทำมาหากินอยู่บนพื้นที่ที่ถูกกฎหมายทั้งอยู่อาศัยและทำกิน” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว