เมื่อก่อนใครว่าทำนาแล้วจน เถียงกันคอเป็นเอ็นว่า ไม่จริงเพราะข้าวขายได้ราคา…แต่มาวันนี้ชาวนาคอเริ่มเป็นเอ็น เพราะตะเบ็งเสียงทวงค่าข้าวจำนำจากรัฐบาล ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้เงินเสียทีช่างแตกต่างจากคนที่ปลูกข้าวไร่ “ข้าวลืมผัว” ถึงเวลาเก็บเกี่ยวมีพ่อค้าหอบเงินมาซื้อถึงเรือนชาน นางยั๊ว คีรีรัตสกุล บ้านเข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีที่ทำกิน 10 ไร่ เป็นที่ดอน ไม่มีระบบชลประทาน การทำเกษตร ตั้งแต่จำความได้จะปลูกข้าวไร่ “ข้าวเหนียวพันธุ์ลืมผัว”
เมื่อก่อนราคาซื้อขายไม่ค่อยแพงนัก แค่ กก.ละ 15-20 บาท กระทั่งคนเมืองหันมาสนใจกินข้าว (ให้) ลืมผัวกันมากขึ้น และข้าวลืมผัวที่ได้คุณภาพดีที่สุด ต้องมาจากเพชรบูรณ์ ยิ่งทำให้ราคาข้าวดีขึ้น
อย่างข้าวน้ำนมซึ่งออกต้นฤดูหลังนำมาสีเป็นเม็ดข้าวพร้อมหุงราคา กก.ละ 70 บาท ขายเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ กก.ละ 30บาท ส่วนข้าวสารถ้าขายยกกระสอบให้พ่อค้าได้ราคา กก.ละ 35-40 บาท แต่ถ้าใส่ถุงขายปลีกเองจะได้ราคาสูงเท่าข้าวน้ำนมเพราะหวังพึ่งแต่น้ำฝน การปลูกข้าวไร่จึงทำได้ปีละครั้ง เม.ย.-พ.ค. กำจัดวัชพืชให้หมด ทำพื้นที่ให้โล่งเตียน รอให้ฝนแรกตกลงมานั่นคือ “สัญญาณจากธรรมชาติ”สามารถปลูกพืชผักกันได้แล้ว ชาวบ้านที่ปลูกข้าวไร่ก็จะแบกไม้กะท้ง ที่ด้านปลายมีลักษณะแหลม เอาไปกะท้งดินแต่ละหลุมห่าง 1 ศอก หยอดเมล็ดพันธุ์ลงไป 6-7 เมล็ด
ข้าวเปลือก 1 ถัง (15 กก.) ปลูกได้ 1 ไร่ กะเวลาให้เหมาะพอดีจังหวะ หลังหยอดเมล็ดข้าวแล้ว ฝนควรตกลงมาพอดี 2-3 วัน ดินปากหลุมจะปิดลงมาเองด้วยวิธีธรรมชาติ ข้าวจะงอกภายใน 7 วัน
“การปลูกต้องดูเค้าฝน ถ้านกมากก็ต้องไปคอยดู และหยอดเมล็ดไปแล้วฝนไม่ตก ต้องไปกลบปากหลุมเอง แต่วิธีนี้ข้าวจะงอกช้า หรือไม่งอกเลย เมื่อหญ้ารกต้องใช้จอบน้อยค่อยๆถางเอาหญ้าออก รอให้ข้าวสูงเท่าหัวเข่า ถึงเอาหญ้าออกอีกรอบ เราปลูกแบบอินทรีย์ ไม่มีต้นทุน รอให้ข้าวสูงเท่าหัวเข่า ถึงเอาหญ้าออกอีกรอบ เราปลูกแบบอินทรีย์ ไม่มีต้นทุน รอให้ข้าวโต ต้นพฤศจิกายนเริ่มเกี่ยวเอามาคั่วทำข้าวน้ำนม ขายด้ราคาแต่เก็บได้แค่เดือนกว่าๆ ข้าวอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้รอเกี่ยวช่วงปลายเดือน”
หลังเกี่ยวข้าวเสร็จจะปลูกถั่วบำรุงดิน หรือไม่ก็ข้าวโพดทิ้งไว้…ช่วงนี้มีเวลาว่างเว้นมากมาย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) นำโดย นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ได้นำโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมร่วมสมัยจากวิถีชนเผ่า” ให้ชาวบ้านใช้เวลาว่างมาทำงาน “ผ้าปักและเขียนเทียน”หัตถกรรมชนเผ่าม้ง ที่ทำกันมานานนับพันปี ที่นับวันกำลังสูญหายให้กลับมามีตลาดรับซื้ออีกครั้ง
พราะถ้าทำเป็นผ้าทั้งผืนส่งขายอิตาลี ญี่ปุ่น จะได้ราคาผืนละ 4,000-5,000 บาท และเพื่อให้มีตลาดรองรับที่กว้างขวางมากขึ้น ศ.ศ.ป.ยังแนะนำให้ชาวม้งดัดแปลงผ้าปักเทียนมาทำเป็น ชุดเครื่องเขียน สมุดโน้ตและเสื้อสตรี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลายผ้าม้งไปอีกขั้น
เพื่อให้ชาวบ้านเข็กน้อยมีรายได้เข้ากระเป๋าตลอดทั้งปี ไม่ใช่หวังพึ่งแต่ข้าวลืมผัวอย่างเดียว…เหมือนชาวนาพื้นราบที่หวังพึ่ง แต่จำนำ สุดท้ายถึงวันนี้ได้แต่ชะเง้อรอกะตังค์จากรัฐบาล.
ที่มา: ไทยรัฐ : โดย เพ็ญพิชญา เตียว : อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/399980