ภูเก็ตเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ในวาระครบรอบ 50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร /ชูผักเหมียงพืชเศรษฐกิจ
นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ในวาระครบรอบ 50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมี ว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่ นายอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวต้อนรับ นายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงาน และเกษตรกรเข้าร่วมกิตกรรมกว่า 200 คน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
“การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ เป็นแบบอย่างของการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้เกิด องค์ความรู้เพื่อวางแผนการผลิตการเข้าถึงปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการ ความเสียสละ และการสร้างความสามัคคีให้กับเกษตรกร” นายประกอบกล่าว
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่ นายอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า อำเภอเมืองภูเก็ตมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 9,200 ไร่มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ยางพารา,มะพร้าว,ปาล์มน้ำมันและพืชผัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักเหมียง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางมีการกระจายอยู่ทุกตำบลช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร
ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกผักเหมียงมีการรวมกลุ่มกันในรูปเกษตรแปลงใหญ่มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน GAP มีการเชื่อมโยงการตลาดและมีเครือข่ายการผลิตทำให้เกษตรกรสามารถขายปรับเสียงได้ในราคาที่สูงขึ้น
โดยศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอเมืองภูเก็ตมีคุณสัญญา หิรัญวดีเป็นเกษตรกรต้นแบบมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตผักเหมียงที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในส่วนของตนเองได้เป็นอย่างดี
ด้านนายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานว่า กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ให้สำนักเกษตรจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการโครงการ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day)
เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ มีหน่วยงานต่างๆให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ และเผยแพร่ ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และศูนย์เครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่
มีเป้าหมายอำเภอละ 1 ครั้ง บุคคลเป้าหมายอำเภอละ 200 ราย รวมเป้าหมายทั้งสิ้น 600 ราย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่าต่อ https://www.prachachat.net/local-economy/news-164116