พาณิชย์ ดันชาวสวนจันทบุรี ปรับตัวสู้วิกฤตค้าเสรี “ผลไม้”

  •  
  •  
  •  
  •  

เรียกได้ว่า “จันทบุรี” หรือเมืองจันท์ เป็นมหานครผลไม้แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จับมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดสัมมนาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 เพื่อพาชาวสวนเมืองจันท์ไปบุกตลาดในยุคการค้าเสรี ทั้งเยี่ยมชมสวนเกษตรแปลงใหญ่ของบ้านคลองน้ำเป็น ตำบลตะเคียนทอง ที่รวมกลุ่มกันปลูกทุเรียนส่งขาย พร้อมยกระดับฝ่ากระแสราคาไปสู่ตลาดต่างประเทศ

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่พบปะชาวสวนผลไม้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าของไทยได้ลดเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าผลไม้ไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพพร้อมส่งออก

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปอันดับที่ 10 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย โดยผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ลำไย ทุเรียน และมังคุด

โดยอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย และภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ส่งผลให้ไทยส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกลำไยไปอาเซียน 675 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากปี 2559 ส่งออกทุเรียน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 230 จากปี 2559 และส่งออกมังคุด 146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 จากปี 2559

ขณะที่จีน เป็นตลาดส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปอันดับที่ 3 ของไทย รองจากอาเซียน และสหรัฐอเมริกา โดยภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-จีน ไทยและจีนได้ยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้าผลไม้ระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 โดยในปี 2560 ไทยส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปจีน 740 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นร้อยละ 25.46 เมื่อเทียบกับปี 2559 สินค้าผลไม้ของไทยที่ส่งออกในตลาดจีน ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ในปี 2560 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน 216 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกลำไย 152 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกมังคุด 60 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ธีระทัศน์ รังสิวรโรจน์” ผู้จัดการบริษัท เทรเชอร์ เทรดดิ้ง แอนด์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด กล่าวว่า ในมุมมองผู้รวบรวมผลไม้ส่งออกที่คลุกคลีการค้ากับประเทศจีนมากว่า 4 ปี ต้องระวังในข้อกฎหมาย และมีพาร์ตเนอร์ที่ไว้ใจได้ รวมถึงเกษตรกรต้องมีความรู้จริงในการทำการค้ากับจีน เพราะเกษตรกรมักจะเสียเปรียบคู่แข่งและพ่อค้าคนกลางหากไม่รู้ข้อมูล เนื่องจากพ่อค้าจีนมีกลยุทธ์ที่เหนือชั้นกว่าเกษตรกรไทย ฉะนั้น เกษตรกรไทยต้องเข้าถึงสื่อของประเทศจีนให้ได้ ต้องรู้ว่าคนจีนนิยมของคุณภาพและพร้อมจ่าย ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด มะม่วง และสินค้าจะขายดีมากขึ้น หากสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย หากมีการสร้างเรื่องราวที่มีมากกว่าความอร่อย เช่น ทุเรียนที่ถูกตัดจากต้นที่มีอายุเกิน 100 ปี เป็นต้น

ด้าน “ธีรภัทร อุ่นใจ” ประธานเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 8 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี บอกว่า ทุกวันนี้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ส่วนใหญ่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง หรือล้งในการขายการส่งออก เป็นช่องทางการตลาดอย่างหนึ่ง แต่อนาคตอาจจะถูกกดราคาได้ ฉะนั้นการร่วมกันทำเกษตรแปลงใหญ่จะสามารถพัฒนาคุณภาพให้มีความสม่ำเสมอ และสามารถต่อรองราคาได้ โดยเรื่องของคุณภาพเป็นปัญหาที่พบมากที่สุด เพราะชาวสวนที่ไม่มีการจัดการดูแลอย่างเป็นระบบ และอยากให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือในการค้าขายที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศโดยตรง ซึ่งเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 8 เพิ่งจะเริ่มรวมตัวกันเป็นปีแรกในการส่งออกทุเรียนไปจีน

เห็นได้ชัดเจนว่าตัวเลขการส่งออกผลไม้ไทยมีช่องทางที่สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนผลไม้จังหวัดจันทบุรี ที่จะส่งผลไม้ไทยไปบุกตลาดต่างประเทศโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ