เนรมิต ศพก.บางสะแกเป็นโรงเรียนเกษตรกรส้มโอ

  •  
  •  
  •  
  •  

 

“ลักษณ์” ผลักดันให้มีการพัฒนาส้มโอขาวใหญ่แม่กลองแบบครบวงจร และให้เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม พร้อมเนรมิตศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นโรงเรียนเกษตรกรส้มโอ และพัฒนา Young Smart Farmer ให้เป็น Smart Farmer ด้านส้มโอ ในอนาคต

           นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ส้มโอขาวใหญ่ ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ว่า จากการสำรวจสถานการณ์การผลิตส้มโอของจังหวัดสมุทรสงคราม ในปีการผลิต 2560 พบว่า จังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่ปลูกส้มโอ  12,995 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกส้มโอ (S1) มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้วจำนวน 12,495 ไร่ ปริมาณผลผลิต 19,367.25 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,033 ผล/ไร่/ปี หรือ 1,550 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ขนาดผลน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม/ผล)

           สำหรับส้มโอที่นิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์ขาวใหญ่ ซึ่งเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพดิน ส่วนพันธุ์อื่น ๆ ที่มีปลูกบ้างในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณเล็กน้อย ได้แก่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ทองดี ซึ่งส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ได้รับอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical indication : GI) คลอบคุลมพื้นที่ 14,000 ไร

                นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า  กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต ร้อยละ 10 จากเดิม 15,000 บาท/ไร่/ปี เป็น 14,500 บาทไร่/ปี โดยต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ต้นทุนเรื่องการใช้ปุ๋ย และต้นทุนเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดแมลง มีแนวโน้มลดลงทุกปี ตั้งแต่เริ่มเข้าโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตร้อยละ 20 โดยเพิ่มผลส้มโอเฉลี่ยจาก 1,500 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 1,800 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากเข้าร่วมโครงการ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปี

             เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีการผลิตมาใช้ในการเพิ่มปริมาณผลผลิต เช่น เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง เทคนิคการลอกเลน การใส่ปุ๋ยตามช่วงอายุ และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า GAP ให้ครบทุกแปลง และการพัฒนาเป็นสินค้าพรีเมี่ยมเกรด ผิวสีเขียว จำหน่ายลูกละ 145 บาท  

[adrotate banner=”3″]

            ทั้งนี้ การบริหารจัดการ มีการวางแผนการผลิตให้ส้มโอออกผลผลิตในช่วงที่ต้องการ เช่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสารทจีน การวางแผนการผลิตให้ส้มโอไม่ออกผลในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนมกราคม เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ส้มโอมีราคาตกต่ำเป็นประจำทุกปี และรสชาติของผลส้มไม่อร่อย จะเปรี้ยวกว่าในช่วงเวลาอื่น ๆ อีกทั้งยังสนับสนุนการผลิตสินค้ารองเพื่อเสริมรายได้ เช่น ส้มแก้ว มะเหมี่ยว กล้วย ลิ้นจี่ มะพร้าว พัฒนาสมาชิกแปลงใหญ่ให้เป็น Smart Farmer ทุกราย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ถุงบรรจุส้มโอ กล่องส้มโอบรรจุส้มโอเกรดพรีเมี่ยม และกล่องส้มโอบรรจุส้มโอสีทอง การรับรองมาตรฐานสินค้าโดยใช้สติกเกอร์รับรองคุณภาพ และสติกเกอร์วอยซ์รับรองคุณภาพ เพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (trace ability) การใช้ QR code ทำให้ทราบข้อมูลแหล่งผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า และได้รับอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อย่างไรก็ตาม ได้มีการหาช่องทางการตลาดในการผลิตส้มโอเกรดพรีเมี่ยม สีเขียว และส้มโอสีทอง ส่งบริษัทเอกชนในพื้นที่ ซึ่งมีห้างโมเดินเทรดในกรุงเทพ จำนวน 34 สาขา และการจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลาง

          ส่วนแนวทางในการพัฒนาแปลงใหญ่ส้มโอ ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม จะพัฒนาให้เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ส้มโอสีเขียว ส้มโอสีทอง พัฒนาให้เป็นสินค้าอินทรีย์ และพัฒนาการผลิตส้มโอแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงขั้นตอนการจำหน่าย และการแปรรูป นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มมูลค่าส้มโอ โดยการแปรรูปสิ่งที่เหลือจากส้มโอ การพัฒนา Young Smart farmer สร้างเครือข่ายกับกลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอในพื้นที่ใกล้เคียงและกลุ่มในจังหวัด ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวในตำบล และพัฒนาแปลงใหญ่ส้มโอ ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม และ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นโรงเรียนเกษตรกรส้มโอ และพัฒนา Young Smart Farmer ให้เป็น Smart Farmer ด้านส้มโอ ในอนาคต