กระทรวงเกษตรฯ เตรียมปฏิบัติการฉีดพ่นสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจีบนมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร กำจัดมัจจุร้ายร้าย “หนอนหัวดำ” ทำลายต้นมะพร้าวแกง 28 จังหวัดในกุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มดำเนินการพ่นใน เดือนกุมภาพันธ์ 2561 หลังจากฉีดสารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC เข้าลำต้นมะพร้าวแกง ที่มีความสูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไปเสร็จสิ้นแล้ว ยืนยันไม่ก่อพิษร้ายแรงต่อคนและสัตว์
นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการฉีดสารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC เข้าลำต้นมะพร้าวแกง ที่มีความสูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป เพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ครบตามเป้าหมาย ในทุกพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ
ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลการดำเนินงานระยะแรกหลังจากฉีดสารเคมีเข้าต้นเสร็จแล้ว และได้จัดเตรียมสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี (flubendiamide 20% WG) สำหรับพ่นทางใบในมะพร้าวแกง ที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตรต่อไป รวมถึงมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวทำน้ำตาลในทุกความสูง คาดว่าจะสามารถดำเนินการพ่นในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ด้าน นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี ใช้สำหรับพ่นทางใบมะพร้าวแกงที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมถึงมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวทำน้ำตาลในทุกความสูง โดยพ่นสารให้ทั่วบริเวณใต้ใบมะพร้าว เพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำที่อาศัยอยู่ใต้ทางใบ
[adrotate banner=”3″]
ทางกรมวิชาการเกษตรทดสอบแล้วว่า ไม่ส่งผลให้เกิดพิษร้ายแรงต่อคนและสัตว์ อาทิ ผึ้งและปลา โดยค่าความเป็นพิษทั้งทางปาก ผิวหนัง โดยเฉพาะทางการหายใจ มีค่าความเป็นพิษน้อย เมื่อเทียบกับค่าความเป็นพิษของสารฉีดพ่นเพื่อกำจัดยุงในปัจจุบัน เพียงแต่ในช่วงการพ่นจะเห็นเป็นละอองค่อนข้างหนาแน่นในบริเวณกว้างเท่านั้น แล้วจะจางหายไปเองในครู่หนึ่ง ดังนั้นจึงขอชี้แจงให้เกษตรกรและประชาชนเกิดความเข้าใจ และไม่ตื่นตระหนกต่อการพ่นสารดังกล่าว
สำหรับการพ่นสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี จะเริ่มดำเนินการพ่นใน เดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้ โดยแนะนำให้เกษตรกรหรือผู้ที่ปฎิบัติงานพ่นสารดังกล่าวปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ ป้องกันตัวเองอย่างมิดชิด ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการดำเนินการกว่า 1.2 ล้านต้น ใน 28 จังหวัด
หลังดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งหมด จะประเมินผลหลังพ่นสารในระยะที่สองต่อไป ซึ่งในระหว่างการพ่นสารเคมีดังกล่าวจะหยุดการปล่อยแตนเบียนบราคอนประมาณ 30 วัน จากนั้นจะดำเนินการปล่อยแตนเบียนบราคอนตามแผนที่วางไว้ จำนวน 16 ครั้ง ทุก 15 วัน เพื่อรักษาสมดุลตามธรรมชาติต่อไป