จากสับปะรดเหลือทิ้ง แปรรูปสู่สินค้าเงินล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

“ลาออกจากงานประจำเพื่อจะได้มีเวลาดูแลแม่ที่ป่วย และต้องการช่วยสามีลดภาระค่าใช้จ่าย         จึงมองหางานที่สามารถทำอยู่กับบ้านได้
ประกอบกับแถวบ้านมีสับปะรดนางแลลูกเล็กๆเต็มไปหมด ตลาดไม่รับซื้อ ชาวบ้านต้องทิ้ง หรือไม่ก็ขายให้ฟาร์มวัว ได้ราคาไม่กี่บาท เลยคิดอยากทำผลไม้อบแห้งซึ่งตอนนั้น เมื่อ 20 ปีก่อนนั้นยังไม่มีใครทำ มีแต่ผลไม้แช่อิ่มน้ำตาลอบแห้ง”
นางนริชา กุลนานันท์ ผู้รวบรวมผลไม้และแปรรูปผลไม้อบแห้งพรีเมียมแบรนด์ บ้านผลไม้ (FRUIT HOUSE) ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย บอกว่าเริ่มแรกใช้เงินลงทุน100,000 บาท ซื้อสับปะรด เครื่องอบแห้ง ถุงเครื่องบรรจุสุญญากาศ…ครั้งแรกชาวบ้านไม่คิดว่าจะทำได้และไปรอดเพราะเชื่อว่าผู้บริโภคต้องการรับประทานเฉพาะผลสดเท่านั้น

 “ผลไม้ไทยมีดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องใส่น้ำตาล ลงไปเป็นส่วนผสม จากประสบการณ์เคยทำงานในโครงการหลวงมา 10 ปี มั่นใจต้องอบแห้งได้แล้วก็ทำได้จริง จึงนำไปฝากวางขายตามร้านในตลาดสด ร้านของฝาก กลับไม่มีใครรับ เพราะไม่อิ่มน้ำตาลเหมือนผลไม้แช่อิ่มที่วางขาย เราทำให้ชาวบ้านที่ปลูกสับปะรดเริ่มมีความหวัง จึงถอยไม่ได้ หนนี้เปลี่ยนพื้นที่นำไปฝากขายร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน แต่ตลาดก็ยังนิ่งๆ”
กระทั่งสนามบินแม่ฟ้าหลวงเปิด มีพื้นที่ให้นำสินค้าท้องถิ่นวางขาย จึงนำไปฝากด้วยความคิดว่ายังไงผลไม้อบแห้งต้องขายได้แน่ๆ เพราะกระแสรักสุขภาพเริ่มได้รับความนิยม เพียงแต่ต้องหาตลาดให้เจอ ที่สนามบินนี่เอง ผลไม้อบแห้งได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติทั้ง เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และอเมริกา

ผลไม้ที่นำมาอบแห้ง เริ่มมีหลายชนิดทั้งสตรอเบอรี่ ลำไย มะม่วง ขิง แก้วมังกร ทุเรียน และสับปะรดนางแล…เน้นเอาแต่วัตถุดิบในพื้นที่ให้ชาวบ้านมีทางเลือกไม่ต้องเร่งขายให้หมดก่อนการเน่าเสีย ตลาดเริ่มโต ผู้บริโภครู้จักกว้างขึ้น ทำให้การอบแห้งผลไม้ไม่ทันตามยอดสั่ง เพราะเครื่องอบที่มีอยู่ขนาดเล็กๆ อบผลไม้สดได้ 50 กก.ต่อวัน ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปซื้อเครื่องอบ ปรับพื้นที่ให้รับวัตถุดิบให้ได้มาตรฐานการผลิต

จากความตั้งใจคิดแค่จะอบแห้งผลไม้เป็นรายได้เสริมช่วยเหลือครอบครัว…วันนี้แปรเปลี่ยนมาเป็นรายได้หลัก และยังช่วยเหลือชาวบ้านชุมชนตำบลรอบเวียงให้ไม่ต้องขนสับปะรดไปเทกองเลี้ยงวัวอย่างในอดีต แต่ละเดือนสร้างรายได้สู่ชุมชนไม่ต่ำกว่า 4,000,000 บาท.

ที่มา : ไทยรัฐ…โดย…เพ็ญพิชญา เตียว