“อ.ยักษ์”หนุนเกษตรขั้นบันไดที่ปัว หลังพบชาวบ้านรายได้เพิ่ม
สรุปโครงการพัฒนาบ้านกอก-บ้านจูน อ.ปัว จ.น่าน ที่ได้นำแนวพระราชดำริ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำใน ส่งเสริมการทำนาขั้นบันได สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นชัดเจนจากเดิมที่เกษตรกรมีรายได้เพียงปีละ 9,900 บาท/คน ล่าสุดมีรายได้เฉลี่ยคนละ 40,752 บาท/ปี
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่โครงการพัฒนาบ้านกอก-บ้านจูน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ 11 ต.ภูคา อ.ปัว จ.น่าน ว่า โครงการพัฒนาบ้านกอก-บ้านจูน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคา และป่าผาแดง เนื้อที่ 14,465 ไร่ ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านจูนใต้ บ้านจูนเหนือ บ้านกอกหลวง และบ้านกอกน้อย รวม 167 ครัวเรือน
สำหรับสภาพพื้นที่ก่อนดำเนินโครงการส่วนใหญ่มีสภาพเสื่อมโทรมเนื่องจากถูกบุกรุกแผ้วถาง ทำไร่เลื่อนลอย เกษตรกรทำการเกษตรในพื้นที่มีความลาดชันภูเขาสูงไม่มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งผลให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน ตลอดจนดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และยังขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสถานีพัฒนาที่ดินน่าน กรมพัฒนาที่ดิน จึงเริ่มดำเนินโครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดน้ำปัว ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำน่าน รวมทั้งเพื่อจัดตั้งเป็นแปลงสาธิตแก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้การใช้พื้นที่ดินที่จำกัดให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ดินและน้ำที่มีต่อการผลิตการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อผลผลิตเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจถึงการทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีการใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และใช้ที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืน
ทั้งนี้ ในปี 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรบ้านจูนใต้ ทรงเห็นความเป็นอยู่ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือพัฒนาราษฎรบ้านกอก โดยเริ่มกระบวนการพัฒนา ที่มีรากฐานจากความต้องการของราษฎรอย่างแท้จริงจากภายในหมู่บ้านออกสู่สังคมภายนอกในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ตามกรอบแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้เพื่อนำพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายมาใช้ประโยชน์ให้เกิดการผลิตสูงสุด ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า และช่วยดูแลรักษาป่าไม้ให้เป็นต้นน้ำลำธาร โดยทรงเน้นการพัฒนา 4 ด้าน คือ แหล่งน้ำ ป่าไม้ อาชีพ และคุณภาพชีวิต อีกทั้งทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมการทำนาขั้นบันได ซึ่งทุกภาคส่วนราชการได้ให้ความร่วมมือในการสนองแนวพระราชดำริ เพื่อให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ส่วนผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้สำรวจความเหมาะสมของดินสำหรับการปลูกพืชในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการก่อสร้างคูรับน้ำรอบเขา ขั้นบันไดดินแบบต่อเนื่อง และนาขั้นบันได พร้อมทั้งสาธิตและส่งเสริมการปรับปรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยก่อนเริ่มโครงการ ปี 2543 ประชาชนมีรายได้ รวม 9,900 บาท/คน /ปี และในปี 2556 มีรายได้ 34,867 บาท/คน/ปี
สำหรับในปี 2560 มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 40,752 บาท/คน/ปี ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่หันมาปลูกข้าวนาดำแบบขั้นบันได (มี 3 ลักษณะ คือ นาข้างห้วย นาไหล่เขา และนาสันเขา) ทำให้มีผลผลิตข้าวเปลือกเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ปลูกข้าวไร่ผลผลิตเฉลี่ย 15 ถัง/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 45 ถัง/ไร่ ทำให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนขุดนาขั้นบันไดให้แก่เกษตรกร 504 ไร่ ส่งผลให้ป่าได้รับการฟื้นฟูเพิ่มขึ้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 7,209 ไร่ อีกทั้งหลังดำเนินการสาธิตและส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เกษตรกรมีความรู้ในด้านการปรับปรุงดิน เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสด การทำการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การปรับสภาพพื้นที่ดินกรด เป็นต้น ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมในการปลูกพืช
[adrotate banner=”3″]
หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อรับฟังบรรายสรุปของจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งพบปะกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนา จากเดิมทำนาในรูปแบบข้าวไร่หมุนเวียน (กระทุ้งหยอด) มาเป็นการทำนาดำหรือนาหยอดแบบขั้นบันได ควบคู่ไปกับการศึกษาทดลองเพื่อหาพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสม กับสภาพพื้นที่และลักษณะของดิน ซึ่งหลังจากลดการขยายพื้นที่การปลูกข้าวลงและได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นนาดำขั้นบันไดตั้งแต่ปี 2553– 2560 จำนวนทั้งสิ้น 673 ไร่ ผลผลิตก่อนปรับเป็นนาขั้นบันได(ข้าวไร่) 25 – 30 ถัง/ไร่ ผลผลิตหลังปรับเป็นนา ขั้นบันได 35-50 ถัง/ไร่ ผลจากการทำนาขั้นบันได เกษตรกรทั้ง 2 หมู่บ้านได้ดูแลป่าต้นน้ายอดดอยขุนน่าน จำนวน 4,500 ไร่ และได้พื้นที่ป่าคืนป่ามาจำนวน 100 ไร่