กองทุน FTA เดินหน้าผลักดันการผลิตข้าวสู่มาตรฐานสากล หวังสู้ในเวทีโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

กองทุน FTA เดินหน้าผลักดันการผลิตข้าวสู่มาตรฐานสากล ยกข้าวไทยสู้เวทีโลก คาดการณ์ปี 2568 เกษตรกรในโครงการจะผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/NOP  จะทำให้ผลผลิตข้าวสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ในตลาดยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีราคาจำหน่ายสูงกว่าข้าวทั่วไป 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการติดตามโครงการนำร่องต้นแบบการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/NOP ด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่การผลิตข้าวตามมาตรฐานสากล

สศก. เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานสากลโดยเฉพาะการผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA)  จึงได้ให้การสนับสนุนเงินทุน แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ จำนวน 15,598,853 บาท ในการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์สากล (EU/NOP) และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ

ผลจากการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการฯ ระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2568 พบว่า กิจกรรมการผลิตข้าวสู่มาตรฐานสากล มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าวในโครงการ จำนวน 1,929 ไร่ ซึ่งมากกว่าเป้าหมายของโครงการ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการปีที่ 3 ซึ่งอยู่ในช่วงระยะปรับเปลี่ยน 3 (T3) /Organic (มาตรฐาน EU) และขณะนี้ได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลในระยะปรับเปลี่ยน จากคณะผู้ตรวจประเมินจากหน่วยงานตรวจรับรองสากล

สำหรับในปี 2568 คาดว่าเกษตรกรในโครงการจะผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/NOP  ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ในตลาดยุโรป และสหรัฐอเมริกา จะมีราคาจำหน่ายสูงกว่า ข้าวทั่วไป ทั้งนี้ คาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ด้านกิจกรรมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินและควบคุมตามแบบเพื่อให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ระบบเปิด ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่า มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นสามารถเพิ่มระสิทธิภาพการกักเก็บสำหรับการปลูกข้าวในพื้นที่โครงการกว่า 1,500 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และมีรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ในฤดูแล้งยังมีน้ำใช้สำหรับปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และกระเจี๊ยบ รวมถึงเป็นแหล่งน้ำชุมชนที่ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นโครงการต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จ

อย่างไรก็ดี ยังพบปัญหาการดำเนินโครงการที่เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามมาตรฐาน เช่น การบันทึกรายละเอียดข้อมูลรายแปลง การควบคุมการใช้ปัจจัยการผลิต การแยกอุปกรณ์ที่ใช้ในแปลง การใช้เทคโนโลยีในการบันทึกพิกัดแปลง และทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการขอรับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ที่ปรึกษากลุ่มฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร             ได้ให้ความรู้ คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องสำหรับการเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในอนาคต  ทั้งนี้ หากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าสนใจ สามารถขอคำปรึกษาการเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA ได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com