กรมวิชาการเกษตร ผนึกจังหวัดจันทบุรี จัดประชุมผู้ประกอบการ วางแผนเชิงรุกเตรียมความพร้อมฤดูกาลส่งออกลำไยภาคตะวันออกไปจีน เน้นผลิตให้มีคุณภาพและปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานของประเทศปลายทาง เพื่อร่วมกันรักษาตลาดลำไยให้ยั่งยืน
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไม้ ต้องปลอดภัยและมีคุณภาพสำหรับการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออก เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ภาคเกษตรไทย จึงได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี (สวพ.6) จัดการประชุม “ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุลำไยภาคตะวันออก ปี 2567/2568” โดยเน้นย้ำให้ส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยตรงตามมาตรฐานของประเทศปลายทาง เพื่อร่วมกันรักษาตลาดลำไยให้ยั่งยืน โดยการประชุมในครั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุลำไย และผู้เกี่ยวข้อง รับทราบสถานการณ์การผลิต การส่งออก ผลการขึ้นทะเบียนสายเก็บลำไยฤดูกาลผลิตปี 2567/2568 ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567 เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นทิศทางเดียวกัน

นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ สวพ.6 โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายด้านการส่งออกผลไม้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุลำไยภาคตะวันออก ปี 2567/2568 สำหรับตนในฐานะผู้กำกับดูแลภารกิจการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุและการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กฎ ระเบียบ และเงื่อนไขการส่งออกสินค้าพืช ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูกาลส่งออกลำไยของภาคตะวันออกตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่กำกับดูแล สวพ. 6 โดยปัจจุบันมีโรงคัดบรรจุลำไยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกและสามารถส่งออกตามเงื่อนไขของประเทศจีนได้ในปี 2567 จำนวน 103 โรง อยู่ในจังหวัดจันทบุรี 100 โรง สระแก้ว 2 โรง และระยอง 1 โรง

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่ายังคงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบศัตรูพืชกักกันและสารพิษตกค้างในลำไยนำเข้าจากต่างประเทศอยู่เป็นระยะ โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง แจ้งว่าทางการจีนมีความเข้มงวดในการตรวจสอบสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสุ่มตรวจประเมินระยะไกลผ่านทางวีดิโอคอนเฟอเรนซ์เดือนละ 1 ครั้ง จึงขอความร่วมมือให้ชาวสวนและผู้ประกอบการเข้มงวดในเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ทางจีนระงับการนำเข้าลำไยจากประเทศไทย อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลส่งออกลำไยที่กำลังจะมาถึงด้วย
สำหรับสถานการณ์ส่งออกลำไยสดภาคตะวันออกฤดูกาลผลิต ปี 2567/2568 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2567 มีการส่งออกลำไยสดภาคตะวันออกจำนวน 2,215 ตู้/ชิปเม้นท์ รวม 54,738.73 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,416.34 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจันทบุรี ได้ดำเนินการตรวจสอบศัตรูพืชที่โรงคัดบรรจุลำไย เพื่อประกอบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยโรงคัดบรรจุต้องแสดงข้อมูลหลักฐานว่าสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์มีการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และต้องผ่านเกณฑ์ตามข้อตกลงพิธีสารกำหนดไว้ และสุ่มตรวจศัตรูพืช กรณีโรงคัดบรรจุที่ไม่ถูกแจ้งเตือนพบศัตรูพืชจะสุ่มตรวจ 3 %ของจำนวนสินค้าทั้งหมดบนตู้คอนเทนเนอร์ และกรณีโรงคัดบรรจุที่ถูกแจ้งเตือนพบศัตรูพืชจะสุ่มตรวจ 5 %ของจำนวนสินค้าทั้งหมดบนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งที่ผ่านมาโรงคัดบรรจุได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นอย่างดี เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญ หากมีการตรวจพบศัตรูพืชที่ประเทศปลายทางจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเกิดความเสียหายกับสินค้า คาดการณ์ว่ากลางเดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568 การส่งออกจะเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้รายงานสถานการณ์การผลิตลำไยของภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูกลำไยรวมทั้งสิ้น 343,117 ไร่ พื้นที่ให้ผล 333,801 ไร่ ผลผลิตคาดการณ์รวม 387,709 ตันซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จำนวน 306,900 ตัน เป็นผลผลิตลำไยของจังหวัดจันทบุรี และผลผลิตอีกจำนวน 74,596 ตัน เป็นของจังหวัดสระแก้ว ส่วนผลผลิตที่เหลือจำนวน 6,213 ตันจะกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ โดยรอบ ขณะที่สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี ได้รายงานการขึ้นทะเบียนสายเก็บลำไยจังหวัดจันทบุรี ฤดูกาลผลิต ปี 2567/2568 (วันที่ 15 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567) มีโรงคัดบรรจุขึ้นทะเบียนจำนวน 40 โรง แยกเป็นขึ้นทะเบียนสายเก็บจำนวน 293 ราย รถทอยจำนวน 30 ราย และแรงงานในความดูแลตามมาตรา 64 จำนวน 8,545 ราย สำหรับสายเก็บอิสระหรือรับเหมาทั่วไปขึ้นทะเบียนจำนวน 75 ราย และรถทอย 5 ราย และแรงงานในความดูแลตามมาตรา 64 จำนวน 1,081 ราย

นอกจากนี้ ภายในการประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานของประเทศจีน โดยปฏิบัติตามมาตรฐานโรงรม มกษ.1004-2557 และร่วมกันตรวจสอบผลการทวนสอบของวิธีการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของห้องรม ตรวจสอบประสิทธิภาพห้องรมเปล่าและห้องรมที่มีผลไม้สดก่อนการใช้งาน ซึ่งต้องมีปริมาณตกค้างในผลไม้สดไม่เกินข้อกำหนดในกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบผลการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก่อนการส่งออกให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดย สวพ.6 จะสุ่มตรวจก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หากพบเกินค่ามาตรฐานจะดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดเพื่อพัฒนาระบบการส่งออกให้เป็นไปตามที่จีนต้องการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ได้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพผลผลิตส่งออกก็จะสามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจการค้าลำไยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความยั่งยืน