กรมส่งเสริมการเกษตร ยกโมเดลการปลูกพืชหมุนเวียน ข้าว มันฝรั่ง ข้าวโพด เพื่อปรับตัวกับโลกร้อน ช่วยเพิ่มผลผลิตรายได้ที่หลากหลาย

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมปิดและประกาศความสำเร็จ โครงการจัดการห่วงโซ่อุปทานมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีการปลูกข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน  เผยเป็นความร่วมมือขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด และบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด พร้อมหน่วยงานภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น ดำเนินโครงการฯในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย 

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการกล่าวปิดโครงการจัดการห่วงโซ่อุปทานมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีการปลูกข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (RePSC) ณ โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุณหภูมิพื้นผิวดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศา ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคเกษตรโดยตรง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีแนวทางการขับเคลื่อนงานโดยให้เกษตรกรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและวิธีการที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันที่ดีกว่า สำหรับมันฝรั่ง

จากข้อมูลเมื่อปี 2566 มีพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 40,912 ไร่ โดยเฉพาะภาคเหนือมีพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่ง จำนวน 38,579 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลโครงการ ฯ พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ผลผลิตมันฝรั่งลดน้อยลง ความเสี่ยงการเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การวางเป้าหมายโครงการฯ จึงมุ่งให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางรวมถึงมีแนวทางการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพของการทำเกษตรกรรม รวมทั้งลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากการเพาะปลูกมันฝรั่ง โดยการใช้ระบบน้ำหยด การจัดการศัตรูพืชผสมผสาน และการเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาแนวทางการปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าว และข้าวโพด รวมถึงการให้คำแนะนำการปลูกมันฝรั่งนอกฤดู ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยหมักจากชีวมวลและการจัดการปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

นายพีรพันธ์ กล่าวอีกว่า โครงการจัดการห่วงโซ่อุปทานมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีการปลูกข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาคเอกชน โดยเฉพาะ GIZ และบริษัท เป๊บซี่ – โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และภาคราชการ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมดำเนินการโดยการปรับระบบการปลูกพืชในนา ในลักษณะโครงการผลิตข้าวยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ลดปัญหาโลกร้อน แก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร

ทั้งนี้ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2564 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง กิจกรรมที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการ เช่น พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีการปลูกมันฝรั่ง ข้าว และข้าวโพด การส่งเสริมการผลิตชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในไร่นา และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นแนวทางการทำฟาร์มมันฝรั่งอย่างยั่งยืน ร่วมมือกับเกษตรกรในการจัดตั้งแปลงสาธิตการปลูกพืชหมุนเวียนในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน

เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในชุมชนในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ฝึกอบรมผู้นำวิทยากร ในหลักสูตร เกษตรอาสาลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี Field day ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตในพื้นที่จริง ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว และมันฝรั่งให้เกษตรกร

นอกจากการให้เกษตรกรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังต้องคำนึงถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำงานแบบบูรณาการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้พื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกเพศ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเกษตร เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่าง ๆ ยกระดับเกษตรกรรมฟื้นฟูและเกษตรอัจฉริยะ ส่งเสริมกรอบแนวคิดและศักยภาพให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาเดิม ๆ และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ