หัวเมืองไทยไร้หมอกควัน

  •  
  •  
  •  
  •  

ช่วงนี้ใครมีโอกาสขึ้นเหนือ คงจะได้พบกับหมอกควันกระจายปกคลุมอยู่ทั่วพื้นที่ สาเหตุของหมอกควันดังกล่าวก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเศษเหลือทิ้งของพืชที่ปลูกในเขตนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพด ปัญหาของหมอกควันดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนในพื้นที่ ตลอดจนส่งผลกระทบไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักแหล่งหนึ่งของภูมิภาคนี้ เพราะว่าในกรณีที่มีหมอกควันมากจะส่งผลกระทบทำให้เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ แต่ยังไม่เท่ากับความเสียหายด้านสุขภาพของผู้คนทั่วไป
เรื่องปัญหาหมอกควันไม่ได้เพิ่งเกิด แต่ว่ามีต่อเนื่องมานานแล้ว และยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหานี้ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรด้านการวิจัยที่รวมตัวกันเรียกว่าเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ หรือ คอบช. ได้สร้างรูปแบบการให้ทุนวิจัยแบบใหม่ขึ้นมา เรียกว่าโครงการ “ท้าทายไทย” ซึ่งเป็นลักษณะโครงการขนาดใหญ่ มีงบประมาณพอเพียงที่จะใช้สร้างผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาโจทย์ใหญ่ๆ ของประเทศได้ อย่างปัญหาเรื่องหมอกควันก็เช่นกัน นักวิจัยกลุ่มใหญ่ที่มี ดร.​เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้ร่วมกันสร้างข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมา และได้รับการสนับสนุนงบประมาณก้อนโตพอสมควรจาก คอบช. โดยมีโจทย์ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ประเทศไทยไร้หมอกควัน ก็แน่นอนว่าทีมเล็กๆ คงไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ระดับนี้ได้ ดังนั้นจึงมีโครงการย่อยๆ จากหลายหน่วยงานร่วมกันทำ แต่มีเป้าหมายร่วมกันคือ ทำให้เมืองไทยไร้หมอกควันให้ได้
อย่างแรกที่ต้องทำคือหาสาเหตุหลักของหมอกควันให้ได้ชัดเจนว่าเกิดจากอะไรบ้าง ตอนนี้เท่าที่มีข้อมูลก็คือสาเหตุของหมอกควันในประเทศไทยเกิดจากไฟป่าทั้งจากในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเกิดจากการเผาเศษซากพืชหรือวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกในฤดูกาลถัดไปหรือในช่วงฤดูฝน บางครั้งเป็นการเผาป่า เพื่อสะดวกในการเก็บเห็ดหรือผักหวานป่า บางครั้งก็เกิดจากการเผาขยะในชุมชน เพราะว่าไม่มีสถานที่กำจัดอย่างเหมาะสม
ที่สำคัญก็คือ การกำจัดขยะในแปลงไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เก็บเกี่ยวแล้ว อย่างเช่นตอซังข้าวโพด เพราะว่าการเผาตอซังเหล่านี้เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย การเผาตอซังทิ้ง เป็นการเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นเมื่อมีการเผาตอซังในเวลาที่ใกล้เคียงกันแทบจะทุกพื้นที่ ซึ่งก็คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม ของทุกปี ผลก็คือเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากควันจากการเผาดังกล่าว ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ และความที่ฝุ่นละอองเหล่านี้มีขนาดเล็กมากจึงสามารถฟุ้งกระจายไปได้ไกล ปกคลุมพื้นที่ในวงกว้าง รวมทั้งเกิดแก็สอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากการเผา ทำให้ปริมาณแก็สพิษเหล่านี้เพิ่มขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
ทางภาคใต้ของไทยก็มีปัญหาเรื่องหมอกควันเช่นกัน แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาข้ามประเทศมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นอินโดนีเซีย ซึี่งเกิดจากไฟป่า และการเผาป่า จึงเกิดหมอกควันปกคลุมหนาแน่นไปทั่วในเขตประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ตอนล่างของไทย ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งของภูมิภาค
คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังถึงมาตรการที่โครงการวิจัยนี้พยายามหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันดังกล่าวครับ