โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิจัยจาก Kansas State University และพันธมิตร ได้พัฒนาสุกรแก้ไขยีนเพื่อควบคุมการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ A (influenza A virus – IAV) การศึกษานี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Emerging Microbes and Infections นำเสนอเป็นแนวทางทางเลือกในการช่วยลดการแพร่กระจายของ IAV
การติดเชื้อ IAV ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ไข้หวัดตามฤดูกาล มีการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว และมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในมนุษย์ การติดเชื้อ IAV ยังทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 290,000 ถึง 650,000 คนต่อปี การศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่า transmembrane protease serine 2 (TMPRSS2) เป็นยีนที่ส่งผลต่อการเกิดโรคและการติดเชื้อของ IAV ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสุกรที่ต้านทานต่อการติดเชื้อ IAV โดยใช้เทคนิคการแก้ไขยีน
นักวิจัยใช้เทคโนโลยี CRISPR-Cas9 เพื่อทำให้ยีน TMPRSS2 หยุดทำงาน ผลการศึกษาพบว่าสุกรที่ยีน TMPRSS2 หยุดทำงาน มีการแพร่กระจายของไวรัสในระดับต่ำในวันที่ 1 และไม่มีการตรวจพบการแพร่กระจายของไวรัสตั้งแต่วันที่ 2 ถึง วันที่ 5 นอกจากนี้ การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าไม่มีสุกรที่ผ่านการแก้ไขยีนตัวใด ที่ให้ผลบวกต่อไวรัส H1N1 CA04 ตั้งแต่วันที่ 3 ถึง วันที่ 5
ในทำนองเดียวกัน ไม่มีรายงานว่ามีไวรัสอยู่ในโพรงจมูกของสุกรแก้ไขยีนที่ติดเชื้อ H3N2 TX98 สุกรที่ได้รับการแก้ไขยีนเหล่านี้ยังแสดงระดับไวรัสที่ต่ำกว่าสุกรดั้งเดิมอีกด้วย การประเมินหลังชันสูตรในสุกรแก้ไขยีนพบว่า การติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อ H1N1 CA04 ส่งผลให้เกิดพยาธิสภาพของปอดที่สังเกตุด้วยตาเปล่าที่รุนแรงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสุกรดั้งเดิม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/22221751.2024.2387449