“Kal91.3” มันฝรั่งแก้ไขพันธุกรรมเก็บได้นานในอากาศเย็น-ทอดกรอบมีคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

Dave Douches ศาสตราจารย์ภาควิชาพืช ดิน และวิทยาศาสตร์จุลินทรีย์ และผู้อำนวยการโครงการปรับปรุงพันธุ์มันฝรั่งและพันธุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (Michigan State University – MSU) สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนามันฝรั่งที่แก้ไขพันธุกรรมเพื่อให้สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิเย็นเป็นเวลานานและผลิตมันฝรั่งทอดกรอบ (potato chips) ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณภาพสูงขึ้น

พันธุ์ Kal91.3 ได้รับการแก้ไขพันธุกรรมเพื่อปิดการทำงานของยีนที่สร้างเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนซูโครสให้เป็นน้ำตาลรีดิวซ์ (น้ำตาลที่มีหมู่แอลดีไฮด์ (aldehyde) หรือคีโทน (ketone) ที่เป็นอิสระอยู่ในโมเลกุลของน้ำตาล และถูกออกซิไดส์ได้ง่ายด้วยตัวออกซิไดส์) เช่น ฟรุกโตสและกลูโคส สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เย็นกว่าได้เป็นเวลานานเพื่อหลีกเลี่ยงการเน่าและการสูญเสียความชื้น นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณภาพสูงขึ้น

รวมถึงมันฝรั่งทอด พันธุ์ Kal91.3 ยังสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปลูกมันฝรั่งโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมากเกินความจำเป็นในการบำรุงรักษาหัวมันฝรั่งระหว่างการเก็บรักษา

พันธุ์ Kal91.3 ได้รับการยกเว้นจากกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมโดยหน่วยงานตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืชของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture’s Animal and Plant Health Inspection Service – USDA APHIS) USDA APHIS สรุปว่า พันธุ์ Kal91.3 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงศัตรูพืชเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพันธุ์มันฝรั่งทั่วไป

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.canr.msu.edu/news/msu-potato-breeder-develops-new-genetically-engineered-potato และอ่านการประเมินของ USDA APHIS ได้ที่ https://www.aphis.usda.gov/sites/default/files/23-340-01rsr-response.pdf