โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
บทความนี้เขียนโดย Andrew M. McGuire จาก Washington State University ตีพิมพ์ในวารสาร Agricultural & Environmental Letters, Volume 2 Issue 1, 2017 (https://acsess.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.2134/ael2017.08.0024) เป็นหนึ่งมุมมองในการทำการเกษตร
คำว่าเกษตรอินทรีย์ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2484 เพื่อตอบสนองต่อการนำปุ๋ยสังเคราะห์และสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมาใช้ในการทำการเพาะปลูก โดยเชื่อว่าวัสดุเหล่านี้เข้ากันไม่ได้กับวิถีทางธรรมชาติในการทำการเพาะปลูก ดังนั้นจึงไม่ควรนำมาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรรมตามธรรมชาติ
ในกรอบแนวคิด การทำเกษตรอินทรีย์จะเน้นที่การรักษาความอุดมสมบูรณ์และคุณภาพของดิน โดยการประยุกต์ใช้การปรับปรุงอินทรีย์และการใช้พืชหมุนเวียนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวทางปฏิบัติเหล่านี้มีการนำไปใช้ในการเพาะปลูกที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ด้วย ดังนั้นการห้ามใช้ปุ๋ยสังเคราะห์และสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู คือ สิ่งที่กำหนดนิยามของการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งข้อห้ามนี้จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนามาตรฐานอินทรีย์อย่างเป็นทางการ
เนื่องจากไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบในการเกษตร การตัดสินใจจึงต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับผลกระทบที่เป็นอันตราย
สารกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากการสังเคราะห์แต่ละชนิด ได้รับการประเมินตามที่กฎหมายกำหนด โดยพิจารณาจากคุณลักษณะเฉพาะของสารสังเคราะห์นั้น และตลอด 75 ปีที่ผ่านมาของการวิจัย พบว่า ประโยชน์จากการใช้สารสังเคราะห์จำนวนมาก รวมทั้งอัตราการใช้ นั้นมีมากมาย ดังนั้นจึงได้มีการอนุญาตให้นำไปใช้ได้ โดยสารเคมีบางชนิดถูกห้ามใช้โดยสิ้นเชิง ในขณะที่บางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ อัตรา และระยะเวลา ซึ่งจะแสดงทางฉลากเป็นข้อกำหนดในการใช้
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสารเคมีสังเคราะห์ใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพในอัตราการใช้ที่ต่ำกว่า มีความจำเพาะต่อศัตรูพืชมากกว่า และคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมในระยะเวลาที่สั้นลงมาก เช่นเดียวกับปุ๋ย ที่มีการพัฒนาวัสดุและวิธีการใช้งานที่ได้รับการปรับปรุง สูตรใหม่ อัตราที่ใช้ลดลง การพัฒนาวิธีทดสอบดิน และวิธีการใช้งานที่แม่นยำ แม้ว่ากระบวนการนี้จะไม่สมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหรือสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาบนฐานวิทยาศาสตร์ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาต่อเมื่อเวลาผ่านไป
แม้ว่าศาสตร์แห่งปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูจะก้าวหน้าไป แต่การตัดสินของเกษตรอินทรีย์เกี่ยวกับวัสดุเหล่านี้ยังคงเข้มงวด อย่างไรก็ดี วัสดุเหล่านี้ยังมีความแตกต่าง ตั้งแต่อันตรายไปจนถึงไม่เป็นพิษเป็นภัย รวมถึงอัตราหรือการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง แต่กลับไม่มีการตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งของปุ๋ยสังเคราะห์และสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู ซึ่งเป็นลักษณะของการห้ามที่ไร้เหตุผล นั่นคือ “ห้ามใช้สารสังเคราะห์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะและอนุญาตให้ใช้สารที่ไม่สังเคราะห์ เว้นแต่จะห้ามเป็นการเฉพาะ”
อาจมีข้อโต้แย้งว่าในปี พ.ศ. 2484 การเพาะปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ยสังเคราะห์และสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู เป็นแนวทางที่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม หลังจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากว่า 75 ปี แนวทางดังกล่าวก็ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป หน่วยงานที่กำหนดกฎสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของปุ๋ยสังเคราะห์และสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูทั้งหมดอย่างมีเหตุผล และไม่ได้พิจารณาถึงหลักฐานที่มีอยู่ เพื่อการยกเลิกคำสั่งห้ามในอัตราเฉพาะหรือการใช้วัสดุต้องห้าม
ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนวิทยาศาสตร์การเกษตรจะต้องทบทวนวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน แม้ว่าทิศทางการทำเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันจะเป็นปัญหาสำหรับนักวิทยาศาสตร์เกษตร นักศึกษา และประชาชนทั่วไป แต่การเดินหน้าต่อไปจะเป็นอันตราย ชุมชนวิทยาศาสตร์การเกษตรต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเดินต่อไปในวิถีปัจจุบัน หรือยังคงแน่วแน่ต่ออุดมคติของวิทยาศาสตร์ ซึ่งในความคิดเห็นของผู้เขียน ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนเส้นทางแล้ว
ครับ แล้วท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://acsess.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.2134/ael2017.08.0024