โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การศึกษาชิ้นใหม่เผยให้เห็นว่า หญ้าอาจถ่ายโอนยีนจากหญ้าป่าในลักษณะเดียวกับการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม งานวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่า หญ้ามีการแลกเปลี่ยนยีนกับหญ่าป่าผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการถ่ายโอนยีนแนวนอน (horizontal gene transfer) บ่อยแค่ไหน
วิวัฒนาการทางลัดนี้ช่วยให้หญ้าเติบโตเร็วขึ้น ใหญ่ขึ้น สูงขึ้น และแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เร็วขึ้น หญ้าครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 30 ของพื้นผิวโลกและเป็นแหล่งอาหารส่วนใหญ่ของโลก ทีมวิจัยได้จัดลำดับจีโนมหลายของหญ้าเขตร้อน Alloteropsis semialata (หญ้าปลัก) การศึกษานี้ได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของยีนในจีโนมและระบุยีนที่มีต้นกำเนิดจากหญ้าชนิดอื่น และพบว่าหญ้าชนิดนี้ได้รับยีนอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ โดยจะมียีนจากหญ้าชนิดอื่นรวมเข้ามาในทุก ๆ 35,000 ปีโดยประมาณ
การถ่ายโอนยีนแนวนอนและพืชดัดแปลงพันธุกรรมให้ผลลัพธ์เดียวกัน คือมียีนจากสิ่งมีชีวิตอื่นแทรกเข้าไปในจีโนมของผู้รับ ซึ่งคิดว่าการถ่ายโอนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมบางชนิด
Dr. Luke Dunning นักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) และผู้เขียนรายงานวิจัยอาวุโสกล่าวว่า “มีหลายวิธีในการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งบางวิธีต้องใช้การแทรกแซงของมนุษย์ และบางวิธีก็ไม่ต้องใช้ วิธีการบางอย่างที่ต้องมีการแทรกแซงของมนุษย์น้อยที่สุดสามารเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนที่สังเกตเห็นได้ในหญ้าป่า”
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า สมมติฐานของการทำงานในปัจจุบัน ที่วางแผนจะทดสอบในอนาคตอันใกล้ คือ วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการเดียวกันกับการถ่ายโอนยีนที่พบได้ในหญ้าป่า “ซึ่งหมายความว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นที่ถกเถียงอาจถูกมองว่าเป็นกระบวนการทางธรรมชาติมากกว่า”
ครับ เป็นหลักฐานยืนยันว่า การถ่ายฝากยีนในสิ่งมีชีวิตด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เป็นการเลียนแบบวิธีการทางธรรมชาติ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดอ่านบทความใน https://www.sheffield.ac.uk/news/natural-gm-crops-grasses-take-evolutionary-shortcut-borrowing-genes-their-neighbours และ ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์เป็นเอกสารที่เข้าถึงได้แบบเปิดใน https://nph.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/nph.19272